พิธีเจริญพระพุทธมนต์ที่ภูเขาทอง วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ขอขอบคุณ ภาพจากวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
พิธีเจริญพระพุทธมนต์ที่ภูเขาทอง วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ขอขอบคุณ ภาพจากวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

รำลึกวันวาน มโนปณิธาน พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร )

ตอนที่ ๕๐

ตำนานพระอัฏฐารส  และมหาสมัยสูตร

กำเนิดการสวดมนต์ข้ามปีที่ภูเขาทอง  

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์

เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ผู้เขียนนำหนังสือสวดมนต์ข้ามปีฉบับทำมือ (พิมพ์เอง ปริ๊นท์เองฉบับกระเป๋า ) ๕๒๒ เล่ม ไปถวายพระอาจารย์พระมหาธนเดช ธมฺมปญฺโญ ประธานกลุ่มใต้ร่มพุทธธรรม สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ซึ่งท่านอาจารย์เจ้าคุณพระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้นเป็นเลขานุการ และอดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ที่ผู้เขียนเคารพบูชาอย่างสูงสุด เพื่ออุทิศให้คุณแม่ผู้เป็นที่รักยิ่งของลูกๆ ทุกคน  เรียบร้อยแล้ว ก็ตั้งใจว่าวันนี้ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๒ ก็จะไปร่วมสวดมนต์ข้ามปีที่ภูเขาทอง วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหารด้วยคน ตั้งใจถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา บูชาพระคุณท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด ซึ่งเป็นพ่อแม่ครูอาจารย์ของผู้เขียนที่เมตตาให้ธรรม สอนธรรมช่วยให้ผู้เขียนก้าวผ่านความทุกข์ในชีวิตมาได้ด้วยการปฏิบัติธรรมกับชีวิตจริง

ยังจำได้เสมอ ท่านเมตตาให้สติว่า การเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมที่แท้จริงคือชีวิตที่เราเรียนรู้อยู่ทุกวันนี่แหละ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตล้วนเป็นสิ่งประเสริฐ ความทุกข์ก็เป็นสิ่งประเสริฐที่สุด เพราะเห็นทุกข์ เราจึงจะเห็นธรรม   

สำหรับงานเขียน ซึ่งเป็นงานที่ผู้เขียนรักและถนัดมากที่สุด เพราะอยู่กับงานเขียนข่าว บทความ คอลัมน์ต่างๆ มากว่า ๒๕ ปี ท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอดเมตตาให้ข้อคิดว่า ณะที่เขียนจงทำจิตให้สงบเย็น มีความเบิกบานจากภายใน วางจิตในอุเบกขาธรรม ให้จิตปราศจากความโกรธ ปราศจากความเกลียดชัง และปราศจากความเจ็บปวด ให้มากที่สุด อย่าใส่อารมณ์เข้าไปในบทความ ละคำประชดประชัน เสียดสี เย้ยหยัน แต่จงเขียนออกไปด้วยความเมตตา เป็นบทความที่ปรารถนาดีต่อสังคม ให้องค์ความรู้กับสังคมที่อยู่บนหลักการ ให้สติกับสังคม อธิบายด้วยเหตุ ด้วยผล  ให้สังคมได้ฉุกคิด ทำความรู้สึกเสมือนหลวงปู่ที่มีจิตเมตตเอื้ออาทร กำลังนั่งสอนเณรน้อยอยู่

ผู้เขียนไม่เคยลืม…

ในช่วงวาระสำคัญของการเปลี่ยนวงปีอีกครั้ง กับความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง ด้วยความระลึกในความเมตตาของท่านอาจารย์เจ้าคุณเทอด จึงขอนำบทความที่ท่านเมตตาเขียนให้นสพ.คมชัดลึก ในคอลัมน์ วิปัสสนาบนหน้าข่าว เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เรื่อง “ กราบพระบรมสารีริกธาตุ ศึกษาประวัติศาสตร์การสวดมนต์ เจริญพระพุทธมนต์ข้ามปีที่ภูเขาทอง” มาถ่ายทอดต่อเนื่องจากฉบับที่แล้ว

พิธีเจริญพระพุทธมนต์ข้ามปี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ขอขอบคุณ ภาพจากวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
พิธีเจริญพระพุทธมนต์ข้ามปี วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ขอขอบคุณ ภาพจากวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

ท่านอธิบายว่า สืบเนื่องจากคณะสงฆ์วัดสระเกศได้รักษาประเพณีการเจริญพระพุทธมนต์  เพื่อประกอบพิธีทำน้ำพระพุทธมนต์ในวาระที่สำคัญ ตามโบราณพระราชประเพณีแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑  สืบต่อมา

  ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พระองค์โปรดฯ ให้มีการฟื้นฟูพิธีเจริญพระพุทธมนต์ บทมหาสมัยสูตร ว่าด้วยสมัยแห่งการประชุมใหญ่ของเหล่าเทพ (จากหนังสือ “พุทธานุภาพ อานุภาพของพระพุทธองค์” โดย พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์โดย กองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร)  ให้มีระเบียบแบบแผนมากขึ้น โดยโปรดฯ ให้ประกอบพิธีที่พระวิหารพระอัฏฐารส ศรีสุคตทศพลญาณบพิตร วัดสระเกศ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์  อันเป็นเทศกาลปีใหม่ตามธรรมเนียมโบราณของชาวไทย  เพื่อนำน้ำพระพุทธมนต์ไปแจกจ่ายให้กับประชาชน ได้นำไปประพรมให้ลูกหลานบ้านเรือน เรือกสวนไร่นา ให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข

หนังสือ "พุทธานุภาพ : อานุภาพของพระพุทธองค์ เรียนรู้พุทธธรรมจากพระพุทธมนต์เพื่อชีวิตที่ดีงาม" พิมพ์ครั้งที่ ๑๘ โดย พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ (เทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) ฉบับธรรมทาน
หนังสือ “พุทธานุภาพ : อานุภาพของพระพุทธองค์ เรียนรู้พุทธธรรมจากพระพุทธมนต์เพื่อชีวิตที่ดีงาม” พิมพ์ครั้งที่ ๑๘ โดย พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ (เทอด ญาณวชิโร,วงศ์ชะอุ่ม) ฉบับธรรมทาน

การที่รัชกาลที่ ๓ โปรดฯ ให้ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์บทมหาสมัยที่พระวิหารพระอัฏฐารส วัดสระเกศ ด้วยพระองค์ทรงปรารภว่า พระอัฏฐารส เป็นพระพุทธรูปที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ในมหาสมัยสูตร  สืบเนื่องมาจากพระประยูรญาติของพระพุทธองค์เกิดความแตกแยกกันอย่างรุนแรง จนถึงขั้นยกกองทัพมาประจันหน้าจะทำสงครามกัน  เพราะแบ่งผลประโยชน์เรื่องน้ำไม่ลงตัว  พระพุทธองค์จึงเสด็จมาห้ามทัพ  ทำให้สงครามแย่งน้ำยุติลง

 พระอัฏฐารส ประดิษฐานที่พระวิหาร พระอัฏฐารส ศรีสุคตทศพลญาณบพิตร วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
พระอัฏฐารส ประดิษฐานที่พระวิหาร พระอัฏฐารส ศรีสุคตทศพลญาณบพิตร วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

พระอัฏฐารส เป็นพระพุทธรูปปางประทับยืน ศิลปะสกุลช่างสมัยสุโขทัยตอนต้น อายุไม่น้อยกว่า ๗๐๐ ปี หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ทั้งองค์ โดยไม่มีการเชื่อมต่อ มีความสูงถึง ๒๑ ศอก ๑ นิ้ว นับว่าเป็นการหล่อพระพุทธรูปด้วยโลหะ ที่มีขนาดสูงใหญ่ที่สุดเป็นครั้งแรก ในประวัติศาสตร์ชนชาติไทย

โดยมีคติการสร้างจากคติพุทธธรรม ๑๘ ประการของพระพุทธเจ้า ปรากฏอยู่ในสุมังคลวิลาสินี อรรถกถา พระสุตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ดังนี้ ๑. พระตถาคตไม่มีกายทุจริตฯ ๒. พระตถาคตไม่มีวจีทุจริตฯ ๓.พระตถาคตไม่มีมโนทุจริตฯ ๔.พระพุทธเจ้าทรงมีญาณรู้อดีตปรุโปร่งฯ ๕. พระพุทธเจ้าทรงมีญาณรู้อนาคตปรุโปร่งฯ ๖.พระพุทธเจ้าทรงมีญาณรู้ปัจจุบันปรุโปร่งฯ ๗.พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทำงานทั้งปวงด้วยความรอบรู้ ฯ ๘.พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเจรจาปราศรัยทุกอย่างด้วยความรอบรู้ฯ ๙.พระผู้มีพระภาคเจ้าทรง ทรงพระดำริตรึกตรองทุกอย่างด้วยความรอบรู้ ๑๐.ไม่มีความเสื่อมฉันทะฯ ๑๑.ไม่มีความเสื่อมจากความเพียรพยายามฯ ๑๒.สติสัมปชัญญะไม่มีเสื่อม ๑๓. ไม่มีการเล่นฯ ๑๔.ไม่มีพลั้งเผลอฯ ๑๕.ไม่มีพลาดฯ ๑๖.ไม่มีผลุนผลันฯ ๑๗.ไม่มีย่อท้อฯ ๑๘.ไม่มีอกุศลจิตฯ (จากหนังสือ ทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับคณะสงฆ์วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เรียบเรียงโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) กองทุนพุทธานุภาพ จัดพิมพ์ ฉบับธรรมทาน)

หนังสือ "ทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับคณะสงฆ์ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เรียบเรียงโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์โดย กองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร พิมพ์ครั้งที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔ (ฉบับธรรมทาน)
หนังสือ “ทำวัตรสวดมนต์แปล ฉบับคณะสงฆ์ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เรียบเรียงโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) จัดพิมพ์โดย กองทุนพุทธานุภาพ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร พิมพ์ครั้งที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔ (ฉบับธรรมทาน)

 เดิมพระอัฏฐารส ประดิษฐานอยู่วัดวิหารทอง เมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นวัดประจำพระราชวังจันทน์ อันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  ต่อมา รัชกาลที่ ๓  ดำริที่จะให้มีพระอัฏฐารสไว้ประจำพระนคร  จึงโปรดฯ ให้ไปเสาะหาตามกรุงสุโขทัย และกรุงศรีอยุธยา ปรากฏว่าชำรุดมาก และได้ไปพบที่วัดวิหารทอง เมืองพิษณุโลก จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่พระวิหารวัดสระเกศ  กรุงเทพมหานคร

ธรรมเนียมการสร้างพระอัฏฐารส พระพุทธรูปยืนไว้ประจำพระนคร ของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต  เพื่อให้บ้านเมืองสงบสุขปราศจากสงคราม ป้องกันความแตกแยกของคนในชาติ ให้คนในชาติเกิดความรักความสามัคคี และให้ประเทศชาติสถิตสถาพรมั่นคงยั่งยืนนาน ประหนึ่งพระพุทธปฏิมากรประทับยืนสถิตสถาพรเป็นนิรันดร์

เมื่อครั้งย้ายพระอัฏฐารสมากรุงเทพนั้น ได้ล่องแพมาตามคลองน้ำ เนื่องจากพระอัฏฐารสมีขนาดใหญ่จึงกดทับแพให้จมน้ำมองเห็นเฉพาะองค์พระ คนก็ลืออันว่าพระลอยน้ำ ผ่านมาถึงไหน ประชาชนสองฝากฝั่งที่ทราบข่าวก็มารอรับเป็นจำนวนมาก จนมาถึงท่าที่จะขึ้นที่กรุงเทพ ปรากฏว่ามีประชาชนหลั่งไหลมาดูพระลอยน้ำและมาช่วยกันชักพระขึ้นเป็นจำนวนมาก ว่ากันว่าคนที่มาเหลือจะคณานับได้ จนเป็นคำพูดติดปากว่า มีคนถึงสามแสนคน  ย่านที่ชักพระอัฏฐารสขึ้นจากท่าน้ำเรียกว่า “ย่านสามแสน”  ต่อมาจึงกลายเป็น “สามเสน”  ซึ่งเป็นชื่อย่านในปัจจุบัน

พระอัฏฐารส ประดิษฐานที่พระวิหาร พระอัฏฐารส ศรีสุคตทศพลญาณบพิตร วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
พระอัฏฐารส ประดิษฐานที่พระวิหาร พระอัฏฐารส ศรีสุคตทศพลญาณบพิตร วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

ในเวลาต่อมา ทางราชการบ้านเมืองกำหนดวันขึ้นปีใหม่ จากวันสงกรานต์ไปใช้ตามความนิยมของสากล เพื่อให้สอดคล้องกับนานาประเทศ พิธีเจริญพระพุทธมนต์บทมหาสมัยก็ลดความสำคัญลง และเริ่มเลือนหายไปจากวิถีชีวิตของคนไทย

ต่อมา เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ในครั้งนั้น  ได้นำคณะสงฆ์วัดสระเกศ ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ข้ามปีขึ้น  ณ พระอุโบสถ วัดสระเกศ โดยอนุวัติตามโบราณพระราชประเพณีแห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เคยประกอบพิธีในช่วงเทศกาลสงกรานต์ อันเป็นประเพณีปีใหม่ของไทยที่มีมาแต่เดิม ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๗   โดยถือตามคตินิยมปีใหม่แบบสมัยปัจจุบัน  และทางวัดได้นำน้ำพระพุทธมนต์บทมหาสมัยสูตรมาแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่มาพิธี  ตามธรรมเนียมเทศกาลปีใหม่โบราณของชาวไทยด้วย

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ)

ในเวลาต่อมาคณะสงฆ์มีความเห็นร่วมกันว่า การสวดมนต์ข้ามปีเป็นที่นิยมของประชาชนอย่างแพร่หลาย และเป็นค่านิยมที่งดงาม ควรแก่การส่งเสริม ที่ประชุมมหาเถรสมาคม เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ณ ตำหนักสมเด็จฯ วัดสระเกศ จึงได้มีมติให้วัดทุกวัด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จัดสวดมนต์ข้ามปี

           โดยส่วนกลาง มีศูนย์กลางอยู่ที่วัดสระเกศ ภูเขาทอง กรุงเทพมหานคร ภาคเหนือ มีศูนย์กลางอยู่ที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ภาคอีสาน มีศูนย์กลางอยู่ที่วัดพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม และ ภาคใต้ มีศูนย์กลางอยู่ที่วัดบรมธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และให้วัดเจ้าคณะจังหวัดทุกจังหวัดเป็นศูนย์กลางการสวดมนต์ข้ามปีของจังหวัดนั้น ๆ ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นศูนย์กลางการอำนวยการ ประสานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในการจัดสวดมนต์ข้ามปี       

พิธีเจริญพระพุทธมนต์ข้ามปีที่วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ปีพ.ศ.๒๕๕๙ ขอขอบคุณ ภาพจากวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
พิธีเจริญพระพุทธมนต์ข้ามปีที่วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ปีพ.ศ.๒๕๕๙
ขอขอบคุณ ภาพจากวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

การฟังและการเจริญพระพุทธมนต์ในช่วงเริ่มต้นปีใหม่ ที่จุดเริ่มต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และที่วัดใด สถานปฏิบัติธรรมใด หรือ แม้แต่สวดกันเองในบ้านก็ตาม เป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ให้ก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า เสมือนความเจริญรุ่งเรืองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สำหรับพระบรมสารีริกธาตุบนองค์พระเจดีย์ภูเขาทอง เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจที่สำคัญยิ่งของชาวไทยที่นับถือพระพุทธศาสนา จะช่วยคุ้มครองปกปักรักษาชีวิตและครอบครัวให้มีความร่มเย็นเป็นสุขตลอดไป เป็นการส่งท้ายปีเก่าวิถีไทย สู่ปีใหม่วิถีพุทธที่ดำรงรากอันมั่นคงแห่งพระรัตนตรัยเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจสืบไป

โดยในปีนี้มีวาระสำคัญที่ชาวไทยทั้งประเทศจะร่วมสวดมนต์ข้ามปีไปด้วยกันเพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่องค์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ และถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๑๐  ทรงมีพระชนมายุยิ่งยืนนาน

ขอเชิญทุกท่านเข้าร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์เสริมสิริมงคลตลอดปี ๒๕๖๓ วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๒ ถึง วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๓ ณ พระอุโบสถ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพ ฯ ขอขอบคุณ ภาพจาก วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

ขอเชิญทุกท่านเข้าร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์เสริมสิริมงคลตลอดปี ๒๕๖๓ วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๒ ถึง วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๓ ณ พระอุโบสถ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพ

ล้อมกรอบ ๑

สัมมาสมาธิ ตอนที่ ๑๕ โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ภาพประกอบ โดย หมอนไม้
สัมมาสมาธิ ตอนที่ ๑๕ โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ภาพประกอบ โดย หมอนไม้

สัมมาสมาธิ ตอนที่ ๑๕

โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

“อุเบกขา” ช่วยรักษาความเป็นกลางของจิต

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) ในขณะนั้น ปีพ.ศ.๒๕๕๙
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร ) ผู้เขียน ในขณะนั้น ปีพ.ศ.๒๕๕๙

ในบันทึกธรรม “สัมมาสมาธิ” โดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) ในขณะนั้นอธิบายเรื่อง “ความเป็นกลางของจิตเป็นอย่างไร”  ไว้ในฉบับที่แล้ว ท่านได้อธิบายต่อมาอีกว่า จิตที่รักษาความเป็นกลางไว้ได้ ไม่มีการคิดปรุงแต่งตามอารมณ์ไปทางพอใจ ไม่พอใจ ชอบใจ ไม่ชอบใจ ชอบ ชัง หรือ สุข ทุกข์ ก็จะเป็นเพียงผู้รู้ที่เฝ้าสังเกตดูความเกิดขึ้นและดับไปของความคิดหรือการเกิดขึ้นและดับไปของจิต ไม่มีการเติมเชื้อชอบหรือชังผสมปนเปลงไป

เมื่อจิตผุดความคิดชอบขึ้นมาก็จะเป็นเพียงอาการชอบที่เกิดขึ้น จิตไม่มีการปรุงแต่งสืบเนื่องต่อไป จะมีอุเบกขาคอยตัดเข้าสู่ความเป็นกลาง แล้วดำรงความสงบสมดุลอยู่อย่างนั้น

เมื่อจิตผุดความคิดชังขึ้นมา  ก็จะเป็นเพียงอาการชังที่เกิดขึ้น เป็นไปตามธรรมดาของจิตที่มีการเกิดความคิดและดับไป แต่จะไม่มีการปรุงแต่งสืบเนื่องต่อไป 

จิตมีการเกิดดับส่งต่อสืบเนื่องกันไปเป็นกระแส  จนเกิดเป็นกระแสชีวิต  มีการดำเนินต่อไปได้ เพราะมีการเติมเชื้ออยู่ตลอดเวลาไม่เคยหยุดพัก เชื้อของจิตวิญญาณหรืออาหารของจิต  ก็คือ โลภะ ราคะก็รวมลงในนี้ โทสะ ปฏิฆะก็รวมลงในนี้  และโมหะ อวิชชาก็รวมลงในนี้ เมื่อจิตคิดปรุงแต่งโดยมีโลภะ โทสะ โมหะเป็นเชื้อผสมโรงเข้าไป ก็คือ การเติมเชื้อให้จิตมีพลังงานเกิดกระแสสืบเนื่อง

ขณะอยู่ในความสงบ  มีความสมดุลเป็นกลาง มีสติบริบูรณ์เฝ้าสังเกตความเป็นไปของจิต จะเห็นว่า จิตมีการดึงความคิดที่มีโลภะ โทสะ โมหะ อันมีลักษณะชอบใจ ไม่ชอบใจ ขึ้นมาเติมความคิดอยู่ตลอด ความคิดใดมีความเข้มข้น มีพลังเพียงพอ ก็จะทำให้จิตคิดปรุงแต่ง และความคิดนั้นก็จะตกตะกอนเป็นอนุสัยสืบต่อเป็นเชื้อกักตุนไว้เป็นพลังงานให้กับจิตเกิดเป็นกระแสชีวิตต่อไป

ส่วนความคิดใดที่สติรู้ทัน มีอุเบกขาคอยตัดเข้าสู่ความเป็นกลาง ไม่ทันได้คิดปรุงแต่งสืบเนื่อง ความคิดนั้นก็จะเป็นเพียงความคิดที่เกิดขึ้นแล้วดับไปตามธรรมชาติ เมื่อไม่มีการปรุงแต่งสืบเนื่อง ก็ไม่ตกตะกอนเป็นอนุสัย กลายเป็นเชื้อกลับมาคิดใหม่ เชื้อด้านนอกก็ไม่เข้ามาใหม่ เชื้อด้านในก็ค่อย ๆ ถูกขจัดออก เชื้อที่ทำให้เกิดกระแสชีวิตก็จะค่อย ๆ ลดลงที่ละนิดทีละหน่อย การเกิดดับของความคิดก็สั้นเข้า ก็จะเป็นเพียงกิริยาของจิตที่เกิดขึ้นและดับลงตามธรรมชาติของจิตเท่านั้น

           (โปรดติดตามตอนต่อไป วันอังคารหน้า)

"ตำนานพระอัฏฐารส  และมหาสมัยสูตร"… กำเนิดการสวดมนต์ข้ามปีที่ภูเขาทอง โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๒
“ตำนานพระอัฏฐารส และมหาสมัยสูตร”… กำเนิดการสวดมนต์ข้ามปีที่ภูเขาทอง โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก วันอังคารที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๒

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here