ฐานรากของครอบครัว คือ ฐานรากของสังคม
ดูแลตน คือ ดูแลใจให้ดี
ดูแลใจดี คนข้างๆ ก็จะดี ….
บาตรเดียวท่องโลก
ดูแลใจ ปกป้องโลก
โดย พระพิทยา ฐานิสสโร
วันปกป้องโลก เป็นวันที่เราเริ่มตระหนักรู้กลับมาดูแล รักษากายใจอย่างแท้จริง โดยไม่ให้จิตใจตกเป็นเหยื่อพลังไม่ดีทั้งมวลที่มีอยู่ในตัวเองและสิ่งแวดล้อม แม้บางครั้งเราอาจทำได้ไม่สมบูรณ์ทั้งหมดก็ตาม เราจึงได้ชื่อว่าได้ปกป้องโลกอย่างแท้จริง
หนุ่มชาวดัตช์วัย ๔๘ ปีได้มาปฏิบัติธรรมช่วงปีใหม่ พร้อมกับภรรยาชาวไทยที่วัดไทยในประเทศฮอลแลนด์ โดยฝากลูกทั้งสองคนไว้กับแม่ให้ช่วยดูแล เขาตั้งใจดื่มเฉพาะน้ำผักปั่นตลอดงานภาวนาประมาณ ๕ วัน ที่สำคัญงานภาวนาเป็นคอร์สภาษาไทยที่เขาไม่เข้าใจ แต่เขาอยู่ร่วมภาวนาจนจบ
ภรรยาชาวไทยของเขาได้เริ่มจัดงานภาวนาร่วมกับกลุ่มเพื่อน โดยการนิมนต์ครูบาอาจารย์ต่างๆ มานำภาวนาที่ประเทศฮอลแลนด์เป็นเวลานานหลายปี ด้วยอานิสงส์นี้ทำให้สามีมีส่วนได้ใกล้ชิดพระอาจารย์เหล่านั้นและค่อยๆ เริ่มมีความสนใจศึกษาและฝึกปฏิบัติ อีกทั้งต่อยอดด้วยการค้นหาฟังธรรมที่เป็นภาษาอังกฤษจากครูบาอาจารย์อีกหลายท่านที่เหมาะกับตน ทำให้เขามีความเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างถูกต้อง ค่อยๆ ปฏิบัติอย่างถูกทางมาเป็นลำดับ
งานภาวนาที่เขาได้เข้าร่วมครั้งล่าสุด เขาได้แบ่งปันว่า เปรียบเสมือนการปฏิบัติแบบอยู่กับตัวเอง รับรู้กับเสียงที่เกิดขึ้นทั้งภายใน ภายนอกและสิ่งต่างๆ ที่มากระทบอย่างที่เป็นโดยไม่ปรุงแต่ง ไม่จำเป็นต้องพยายามเข้าใจให้รับรู้เสียงเป็นเพียงเสียง ทั้งเสียงที่เกิดจากการบรรยายธรรมหรือเสียงการพูดคุย การถามตอบคำถามในบางช่วงของการปฏิบัติ เมื่อวางจิตใจเช่นนั้นจึงเป็นเรื่องไม่ยากที่จะสงบเมื่อเกิดการกระทบต่างๆ ประกอบกับมีโอกาสได้นั่งสมาธิ เดินจงกรมอย่างต่อเนื่องในแต่ละวัน ทำให้จิตใจปล่อยวางได้ง่ายขึ้นมาก
แม้ว่าภรรยาชาวไทยจะได้มีโอกาสปฏิบัติธรรมอยู่หลายครั้ง แต่ไม่ได้หมายความว่าชีวิตครอบครัวจะสุขสงบเสมอ หลายปีที่ผ่านมามีช่วงเวลาที่ยากของครอบครัวทั้งปัญหาภายในตัวเอง ปัญหาภายนอก ปัญหาความไม่เข้าใจ จนถึงขั้นคิดจะหย่าร้างจากกัน ทั้งที่ลูกทั้งสองคนยังเล็ก แต่เพราะอานิสงส์ที่ได้เป็นตัวหลักในการจัดงานภาวนาจึงมีครูบาอาจารย์หลายท่านที่เป็นพลังแห่งบุญ เป็นกำลังใจ ให้คำแนะนำในช่วงเวลายากลำบากนั้น รวมทั้งประสบการณ์ที่สั่งสมจากการปฏิบัติที่ช่วยหล่อเลี้ยงสนับสนุนให้เห็นความจริงตามสติกำลังในเวลานั้น ในที่สุดเขาทั้งสองก็ผ่านไปได้
ที่สำคัญเขาทั้งคู่ค่อยๆ พัฒนาจิตวิญญาณภายในไปพร้อมๆ กัน ตามเวลา เงื่อนไขที่เหมาะสม โดยที่ภรรยามีโอกาสไปจาริกแสวงบุญปฏิบัติบูชาที่อินเดียเป็นเวลา ๒๑ วันเมื่อต้นปีที่แล้ว และสามีช่วยดูแลลูกทั้งสอง อีกทั้งสามีมีโอกาสบวชเป็นพระภิกษุได้ลิ้มรสพระธรรมจากการดำเนินชีวิตเฉกเช่นนักบวชที่ใช้ชีวิตที่เรียบง่ายเมื่อไม่กี่ปี่ที่ผ่านมา
คนที่ทำงานเพื่อสังคมบางคน อาจมีปัญหาความแตกแยก หย่าร้างในครอบครัว ถ้าเขาไม่ได้ทำงานเหล่านั้นเพื่อลดความเป็นตัวตน ของตน เขาจะตกเป็นเหยื่อความคาดหวัง ยึดติดกับเป้าหมายความสำเร็จ การเป็นที่ยอมรับ ทำให้ระหว่างทางที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดหวัง ไม่เป็นไปแผนการ ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ให้ความร่วมมือหรือไม่รับผิดชอบ หรืออาจเกิดความเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างการทำงาน เป็นเหตุให้เกิดความเครียด ความกดดัน ความกลุ้มใจกังวล ไม่สามารถปล่อยวางเรื่องราวที่มากระทบได้ โดยเฉพาะถ้าอยู่ในบทบาทสมมติว่าเป็นผู้นำหรือผู้รับผิดชอบโครงการนั้นๆ สิ่งที่ร้ายกว่าคือ สมาชิกในครอบครัวไม่ได้เห็นความสำคัญ สนับสนุน อาจต่อต้านกับสิ่งที่ตนกำลังกระทำและทุ่มเท เพราะอาจมีส่วนกระทบความรับผิดชอบหน้าที่ในครอบครัวด้วยเช่นกัน
สังคมใดไร้ซึ่งความเข้าใจ สามัคคีในการอยู่ร่วมกัน สังคมนั้นย่อมแตกแยกล่มสลาย ไร้ความสงบสุข จิตใจที่ให้ความสำคัญกับเรื่องราว บุคคลภายนอกมากกว่าเรื่องของตนเอง เป็นจิตใจที่ขาดความสงบภายใน เพราะเป็นจิตใจที่โหยหา อยากให้โลกเห็นความสำคัญของการปรากฏในความเป็นตัวตน ของตน และเมื่อกระทำสิ่งใดๆ ก็ตามเพื่อบุคคลอื่นก็จะหวังผลแบบไม่รู้ตัวเสมอ
สังคมเล็กที่สุดที่ควรดูแลเอาใจใส่ คือ กายและจิตใจที่ปรากฏอยู่ขณะนี้ ชีวิตที่ประกอบด้วยขันธ์ ๕ ไม่ว่าจะเป็นรูป ความรู้สึก การจดจำ การปรุงแต่ง การรับรู้ รวมทั้งสิ่งมีชีวิตเล็กๆ อีกมากมายที่อาศัยอยู่ในกายและจิตใจนี้ เมื่อมีการกระทบ รับรู้ทางกายก็จะส่งผลไปยังจิตใจที่เปรียบเสมือนภาชนะรองรับสิ่งทั้งหมดที่ผ่านทางประตูทั้ง ๕ อันประกอบด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย
สติที่เป็นดั่งนายประตูที่คอยปกป้องสิ่งที่จะผ่านเข้ามา คอยกลั่นกรองว่าสิ่งใดควร ไม่ควรที่จะผ่านประตูทั้งห้านี้ แต่เมื่อชีวิตขาดซึ่งสติ เหมือนขาดสิ่งคอยคุ้มครอง ป้องกัน ภัยอันตรายต่างๆ จะค่อยสั่งสม กล้ำกลายเข้าไปภายในจิตใจ เพราะไม่คัดกรองสิ่งที่จะผ่านเข้าประตูทั้งห้า สิ่งที่เกิดขึ้นคือ จิตใจจะขาดซึ่งความอดทน มั่นคง เข้มแข็ง ไร้ซึ่งความสงบ และจะทำตามกระแส พลังงานที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี ไม่มีอิสระด้วยตนเอง อาจตกเป็นทาสของการเสพติดในที่สุด
เมื่อจิตใจประกอบด้วยความเครียด ความกดดัน อ่อนแอ โกรธ เกลียด อิจฉา อาฆาต เคียดแค้น ไร้อิสระ เต็มด้วยความอยากฯลฯ จิตใจที่เป็นเช่นนั้น ได้สร้างสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี ไม่สะอาด ไม่แข็งแรงให้กับจิตใจ รวมทั้งกาย เป็นเหตุหลักที่เชื้อเชิญสิ่งมีชีวิตที่ไม่ดี เพราะมีอาหารเหมาะแก่การอยู่อาศัย เจริญเติบโต เมื่อจิตใจ ร่างกายขาดความสมดุล โรคภัยไข้เจ็บทางกายก็จะตามมา เพราะเริ่มจากจิตใจที่ป่วย ขาดความเป็นปกติของจิตใจนั่นเอง
การฝึกฝนจิตใจให้อยู่กับปัจจุบันขณะ เสพ รับรู้แต่สิ่งที่หล่อเลี้ยงความสงบสุข เบิกบาน ปล่อยวางอย่างเรียบง่าย ไม่เพิ่มความอยาก โกรธ เกลียด แบ่งแยกฯลฯ เป็นการใส่ใจเรื่องของตนเองอย่างแท้จริง เพื่อปลดปล่อยตนเองให้หมดจากความยึดมั่น ถือมั่นในตน ในของๆ ตน เป็นหนทางเดียวที่จะช่วยปกป้องโลก เพราะเราได้ปกป้องจิตใจของตนไม่ตกเป็นเหยื่อของความเปลี่ยนแปลง
ความเป็นเช่นนั้นของโลก ทำให้เราจะซื่อสัตย์ต่อตนเอง และคนอื่นทั้งต่อหน้าและลับหลัง จริงใจ เมตตา กรุณากับทุกสรรรพสิ่ง สรรพชีวิตในโลกอย่างไร้เงื่อนไข ไม่แบ่งแยก ทำทุกหน้าที่ด้วยความเบิกบาน เพราะไร้ความคาดหวัง ไร้การหวังผลตอบแทน เราจะทำหน้าที่ทุกหน้าที่ด้วยความเบาใจ อิสระ ปล่อยวาง และเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ทำงานเพื่อผู้อื่นอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน เจียมตัว เพราะไร้ซึ่งตัวตน ของตน
รักษาจิตใจปรกติ กำลังรักษาโลก
จิตใจที่เสพติดในสิ่งใด จะขาดอิสรภาพจากสิ่งนั้น
จิตใจที่เป็นทาส เป็นทุกข์เสมอ