ประเทศไทย ประกอบไปด้วย ๓ สถาบันหลัก คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์สำคัญยิ่งต่อสังคมไทย ดังที่อาตมาได้กล่าวไปในจาริกธรรมสกอตแลนด์ตอนที่ ๖ “ชาวไทยในสกอตแลนด์ เทิดไท้องค์ราชัน ราชินี” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพวรางกูร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาพัชรสุธาพิมลลักณ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๑๐ ที่ผ่านมาว่า

  “สถาบันพระมหากษัตริย์เปรียบเสมือนเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย และทรงเป็นที่เคารพรักเทิดทูนอย่างสูงยิ่งของประชาชนชาวไทยมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน หากเราได้ศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันจะพบว่าพระมหากษัตริย์ทุกๆ พระองค์ทรงอุทิศพระองค์เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ปวงประชาราษฎร์มาตลอด”

เขียนธรรมสื่อถึงโลก

ดำเนินชีวิตตามรอย “ทศพิธราชธรรม” วันเฉลิมพระชนพรรษา

โดย พระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

จาริกธรรมสกอตแลนด์ ตอนที่ ๑๐

ดำเนินชีวิตตามรอย “ทศพิธราชธรรม” วันเฉลิมพระชนพรรษา

วัดไทยในสกอตแลนด์ จัดงานเฉลิมพระเกียรติ วันเฉลิมพระชนพรรษาในหลวง

           ในวันที่ ๒๘ กรกฏาคม พ.ศ.๒๕๖๒ ที่ผ่านมาเป็นวันเฉลิมพระชนพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพวรางกูร เราได้เห็นบรรยากาศของคนไทยไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เอกชน พ่อค้าประชาชนทั่วไป ได้จัดงานและกิจกรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ และถวายเป็นพระราชกุศล

           แต่บรรยากาศงานมหามงคลดังกล่าวไม่ได้มีเพียงเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ในประเทศสกอตแลนด์ที่อาตมาได้มาจำพรรษาและเป็นพระธรรมทูตปฏิบัติศาสนกิจอยู่ที่นี้ก็มีการจัดงานเหมือนที่เมืองไทยเช่นกัน กล่าวคือชาวไทยในสกอตแลนด์ (Scotland) ได้ร่วมกันจัดงานและกิจกรรม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาเช่นกัน ณ วัดธรรมปทีป เมืองเอดินบะระ (Edinburgh) และวัดไทยพุทธาราม เมืองอเบอร์ดีน (Aberdeen) ซึ่งในการจัดงานและกิจกรรมนั้นมีการเจริญพระพุทธมนต์ เจริญจิตตภาวนา ทำบุญตักบาตรเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และวางพานพุ่มถวายเครื่องราชสักการะหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นต้น

           สำหรับพระมหาทินกร วรญาโณ ประธานสงฆ์วัดธรรมปทีป เมืองเอดินบะระ (Edinburgh), พระวิทยากรกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ฯ ได้กล่าวถึงการจัดงานและกิจกรรมเฉลิมพระกียรติฯ ในครั้งนี้ว่า

           “การจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯเป็นกิจกรรมที่ชาวไทยในต่างประเทศจัดขึ้นทุกๆ ปี เพื่อแสดงความจงรักภักดีโดยใช้สถานที่วัดแห่งนี้เป็นหลัก เนื่องจากชาวไทยจะได้มีโอกาสมาทำบุญไปด้วย บทบาทของพระสงฆ์เองก็ได้ทำหน้าที่ในการให้ข้อคิดธรรมะเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ”

           ส่วนพระอาจารย์วิทยา ญาณเมธี ประธานสงฆ์วัดไทยพุทธาราม เมืองอเบอร์ดีน (Aberdeen), พระวิทยากรกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม และกรรมการ สถาบันพัฒนาพระวิทยาทกร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ  ก็ได้กล่าวถึงความรู้สึกในการจัดการงานและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ครั้งนี้เช่นกัน ว่า

           “รู้สึกปลาบปลื้มยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ การแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ นำมาสู่ความรัก ความเมตตา ความสามัคคีในสังคม ชุมชนที่น่าอยู่ในเมืองอเบอร์ดีน ประเทศสกอตแลนด์ ชึ่งถือว่าเป็นการสร้างเสริมความดีงามให้เกิดขึ้นทั้งแก่ตนเอง ครอบครัว และสังคม มีความเสียสละต่อส่วนรวม อันเป็นแนวทางหนึ่งที่เป็นพลังให้ทุกคนมีน้ำใจไมตรีช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน”

อย่างไรก็ตาม ในโอกาสวันมหามงคล นอกจากเราจะได้แสดงออกถึงความจงรักภักดีด้วยการจัดงานและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ และถวายเป็นพระราชกุศลให้กับในหลวงของเราแล้ว แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นที่อาตมาอยากชวนชาวไทยทั้งที่อยู่ในแผ่นดินมาตุภูมิหรืออยู่ในต่างแดนได้ถือโอกาสนี้ มาถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ครั้งนี้ร่วมกันว่าเราจะแสดงออกถึงความจงรักภักดีให้เป็นรูปธรรม ด้วยการมาทำความดีให้กับตนเองและทำความดีให้กับสังคม โดยยึดถือในหลวงของเราเป็นแบบอย่างและเป็นแรงบันบันดาลใจในการที่จะกล้าทำ กล้าดี ในสิ่งทีดีงามมีอยู่ ๒ ประการด้วยกันดังนี้

           ๑) “ทศพิธราชธรรม” ความงดงามอีกอย่างหนึ่งของพระมหากษัตริย์ไทยเราตั้งแต่โบราณกาลมาจนถึงปัจจุบันคือ พระองค์จะทรงปกครองบ้านเมืองโดยยึดหลักธรรมตามทศพิธราชธรรม ซึ่งเป็นธรรมสำหรับพระราชาหรือธรรมของผู้ปกครองบ้านเมือง แต่หลักธรรม ๑๐ ประการนี้เราก็สามารถนำมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตของเราก็ได้ โดยใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต  เป็นหลักในการเป็นผู้นำของครอบครัว ผู้นำของชุมชน นักการเมืองหรือผู้ปกครองที่เป็นผู้นำของประเทศชาติ ล้วนสามารถนำหลักธรรม ๑๐ ประการมาประยุกต์หรือบูรณาการใช้ในชีวิตของเราได้

           ซึ่งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุตฺ ปยุตฺโต) ได้อธิบายขยายความหลักธรรม ๑๐ ประการของทศพิธราชธรรม มีดังนี้ ราชธรรม ๑๐ หรือ ทศพิธราชธรรม ธรรมของพระราชา, กิจวัตรที่พระเจ้าแผ่นดินควรประพฤติ, คุณธรรมของผู้ปกครองบ้านเมือง, ธรรมของนักปกครอง (virtues or duties of the king; royal virtues; virtues of a ruler)

           ๑. ทาน การให้ คือ สละทรัพย์สิ่งของ บำรุงเลี้ยง ช่วยเหลือประชาราษฎร์ และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ (charity; liberality; generosity)

           ๒. ศีล ความประพฤติดีงาม คือ สำรวมกายและวจีทวาร ประกอบแต่การสุจริต รักษากิตติคุณ ให้ควรเป็นตัวอย่าง และเป็นที่เคารพนับถือของประชาราษฎร์ มิให้มีข้อที่ใครจะดูแคลน (high moral character)

           ๓. ปริจจาคะ การบริจาค คือ เสียสละความสุขสำราญ เป็นต้น ตลอดจนชีวิตของตน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง (self-sacrifice)

           ๔. อาชชวะ ความซื่อตรง คือ ซื่อตรงทรงสัตย์ไร้มารยา ปฏิบัติภารกิจโดยสุจริต มีความจริงใจ ไม่หลอกลวงประชาชน (honesty; integrity)

           ๕. มัททวะ ความอ่อนโยน คือ มีอัธยาศัย ไม่เย่อหยิ่งหยาบคายกระด้างถือองค์ มีความงามสง่าเกิดแต่ท่วงทีกิริยาสุภาพนุ่มนวล ละมุนละไม ให้ได้ความรักภักดี แต่มิขาดยำเกรง (kindness and gentleness)

           ๖. ตปะ ความทรงเดช คือ แผดเผากิเลสตัณหา มิให้เข้ามาครอบงำย่ำยีจิต ระงับยับยั้งข่มใจได้ ไม่ยอมให้หลงใหลหมกมุ่นในความสุขสำราญและความปรนเปรอ มีความเป็นอยู่สม่ำเสมอ หรืออย่างสามัญ มุ่งมั่นแต่จะบำเพ็ญเพียร ทำกิจให้บริบูรณ์ (austerity; self-control; non-indulgence)

           ๗. อักโกธะ ความไม่โกรธ คือ ไม่กริ้วกราด ลุอำนาจความโกรธ จนเป็นเหตุให้วินิจฉัยความและกระทำกรรมต่างๆ ผิดพลาดเสียธรรม มีเมตตาประจำใจไว้ระงับความเคืองขุ่น วินิจฉัยความและกระทำการด้วยจิตอันราบเรียบเป็นตัวของตนเอง (non-anger; non-fury)

           ๘. อวิหิงสา ความไม่เบียดเบียน คือ ไม่บีบคั้นกดขี่ เช่น เก็บภาษีขูดรีด หรือ เกณฑ์แรงงานเกินขนาด ไม่หลงระเริงอำนาจ ขาดความกรุณา หาเหตุเบียดเบียนลงโทษอาชญาแก่ประชาราษฎร์ผู้ใด เพราะอาศัยความอาฆาตเกลียดชัง (non-violence; non-oppression)

           ๙. ขันติ ความอดทน คือ อดทนต่องานที่ตรากตรำ ถึงจะลำบากกายน่าเหนื่อยหน่ายเพียงไร ก็ไม่ท้อถอย ถึงจะถูกยั่วถูกหยันด้วยคำเสียดสีถากถางอย่างใด ก็ไม่หมดกำลังใจ ไม่ยอมละทิ้งกรณีย์ที่บำเพ็ญโดยชอบธรรม (patience; forbearance; tolerance)

           ๑๐. อวิโรธนะ ความไม่คลาดธรรม คือ วางองค์เป็นหลักหนักแน่นในธรรม คงที่ ไม่มีความเอนเอียงหวั่นไหวเพราะถ้อยคำที่ดีร้าย ลาภสักการะ หรืออิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ใดๆ สติมั่นในธรรม ทั้งส่วนยุติธรรม คือ ความเที่ยงธรรม ก็ดี นิติธรรม คือ ระเบียบแบบแผนหลักการปกครอง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ก็ดี ไม่ประพฤติให้เคลื่อนคลาดวิบัติไป (non-opposition; non-deviation from righteousness; conformity to the law)

           ราธนํ.ชธรรม ๑๐ นี้ พึงจดจำง่ายๆ โดยคาถาในบาลี ดังนี้ ทานํ สีลํ ปริจฺจาคํ อาชฺชวํ มทฺทวํ ตปํ อกฺโกธํ อวิหึสญฺจ  ขนฺติญฺจ อวิโร

           ๒) โครงการจิตอาสา “เราทำความดีด้วยหัวใจ” ในหลวงพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโครงการจิตอาสา “เราทำความดีด้วยหัวใจ” เพื่อเป็นการส่งเสริม หรือเป็นการการสร้างสังคมของคนดี เชิดชูคนที่ทำความดีด้วยหัวใจและคนที่คิดถึงประโยชน์ของมหาชนมากกว่าประโยชน์ส่วนตน

           เราในฐานะพสกนิกรชาวไทยทุกคนควรน้อมนำโครงการจิตอาสามาปฏิบัติหรือจงใช้ชีวิตในแต่ละวันด้วยหัวใจจิตอาสา คำว่าจิตอาสานั้นหมายถึง “บุคคลที่มีจิตเป็นผู้ให้” เช่น ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลบุคคลอื่นด้วยกำลังกาย กำลังสมอง กำลังทรัพย์ หรือเสียสละเวลาส่วนตัวเพื่อทำกิจของส่วนรวมตามเหตุปัจจัยของเราที่จะกระทำได้ กล่าวคือ เมื่อเราอยู่ในสังคมไหน นอกจากเราจะเอาหรือรับจากสังคมนั้น ๆ แล้วเราควรที่จะให้หรือคืนให้กับสังคมนั้น ๆ ด้วยการมีหัวใจเป็น “จิตอาสา” ให้เป็นปกตินิสัยในการดำเนินชีวิตของเรา

           ฉะนั้นแล้ว ถ้าพวกเราคนไทยพร้อมใจกันทำความดีให้ตนและผู้อื่นโดยมีในหลวงของเราเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจ ด้วยการนำหลักทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ มาบูรณาการหรือปรับใช้ตามฐานะของแต่ละบุคคลพร้อมมีหัวใจเป็นจิตอาสา อาตมาเชื่อว่าสังคมไทยตั้งแต่ระดับครอบครัว  ชุมชน และประเทศชาติของเราคงจะเกิดความผาสุก มีความสามัคคี และมีความมั่นคงทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง กว่าที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ไม่มากก็น้อย  

เขียนธรรมสื่อถึงโลก หน้าธรรมวิจัย นสพ.คมชัดลึก

วันอังคารที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๒

โดย พระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม

เรื่อง ดำเนินชีวิตตามรอย “ทศพิธราชธรรม” วันเฉลิมพระชนมพรรษา

จาริกธรรมสกอตแลนด์ ตอนที่ ๑๐

พระใบฏีกาคทาวุธ-คเวสกธมฺโม ผู้เขียน กรรมการ สถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ
พระใบฏีกาคทาวุธ-คเวสกธมฺโม ผู้เขียน กรรมการ สถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศฯ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here