ชุดความรู้จากกิจกรรม “สายน้ำแห่งชีวิต”
โดยพระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม
แนวคิด โดย พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี
๑. แนวคิด
Buddhist Counselor คือผู้นำหลักธรรมของพระพุทธศาสนามาใช้เป็นฐานในการพาคนออกจากทุกข์ โดยเป็นการทำให้เขานั้นได้ตระหนักถึงตัวเองเท่านั้นที่จะนำตัวเองออกจากทุกข์ได้ โดยความเข้าใจตนเองตามหลักธรรม ค้นหาตัวเอง และเข้าใจธรรมะที่เกิดขึ้นในตนเอง (โสรีย์ โพธิแก้ว, ๒๕๕๗) โดยหลักธรรมสำคัญที่เกิดขึ้น คือ
๑.๑ ความเป็นเหตุและผล (cause and effect)
เป็นการเรียนรู้เรื่องทุกสิ่งอย่างล้วนสัมพันธ์กัน ในพระพุทธศาสนาเรียกว่า หลักธรรมอิทัปปัจจยตา คือความเป็นเป็นปัจจัยของกันและกัน โดยมีคำขยายว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เมื่อสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เมื่อสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ โดยการมองภาพนี้ทำให้เกิดความที่สายน้ำนั้นไหลต่อเนื่องกันทุกอย่างล้วนส่งต่อกันและกัน โดยเราอาจเห็นได้ในชีวิตมนุษย์ที่เริ่มต้นจากสายใยอันเกี่ยวเนื่องกับทุกอย่างทั้งดวงอาทิตย์ แสงแดด ความอบอุ่น น้ำ อากาศ ต้นไม้ ลมหายใจ ปลา วัว ควาย เป็นข่ายโยงใยหลากหลายชั่วอายุคน รวมถึงวัฒนธรรมประเพณีทั้งหลายทั้งปวงอันเป็นรากฐานของการก่อเกิดชีวิตของมนุษย์
โดยการโยงความหมายนั้นเราจะพบถึงผลรวมของเหตุเหล่านี้ว่ามีผลต่อกันและกัน เช่น รถชนกัน ล้วนเกิดจากปัจจัยหลากหลายมารวมกัน ถนน คนขับ สภาพรถ ความเลินเล่อ คนขับคันอื่น ไม่มีสิ่งไหนที่ไม่มีส่วนในการชน แต่เรามักแยกส่วนเหตุการณ์เหล่านี้ออกจากกันเพื่อพิจารณาความถูกผิดของกฎหมาย ตามกรอบสังคมทำให้ไม่สามารถมองเห็นความเป็นเหตุปัจจัยกันได้
ฉะนั้น การมองชีวิตผ่านสายน้ำจึงทำให้เราได้ย้อนกบับมามองตนเองอีกครั้งในแง่ของความเป็นอันเดียวกันของสรรพสิ่ง การเป็นปัจจัยของกันและกัน ให้เห็นว่าเราไม่ได้โดดเดี่ยวเพียงลำพัง และให้เห็นว่าทุกการกระทำล้วนสร้างผลกระทบทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นเสมอ
๑.๒ การรู้จักตนเอง (Self-knowledge)
การรู้จักตนเอง (Self-knowledge) คือความสามารถในการควบคุมตัวเอง รู้ตัวตลอดเวลา (Self-awareness) ในทางพระพุทธศาสนาคือ “สติ” แปลว่า รู้ตัวทั่วพร้อม โดยรู้ว่าความเป็นจริงของตนคืออะไร เช่น ถ้าเป็นนักรบ ก็ต้องพิสูจน์กันในสงครามเมื่อพบเจออุปสรรคมาก ๆ ตัวเราจะสู้หรือหนี
การมีความสามารถในการสื่อสาร เป็นพลังสร้างสรรค์ที่ช่วยให้ผู้อื่นมีกำลังใจ หรือมีความสามารถมากขึ้น คือมีความสามารถในการสร้างคุณค่าใหม่ๆ
ว่าตามจริงแล้วการที่จะพัฒนาและการนำความรู้จักตัวเองไปประยุกต์ใช้ได้นั้นจำเป็นต้องมีเห็นเป้าหมายให้ชัดเจนและสร้างสรรค์สิ่งที่ตนเองคิดว่าสำคัญที่สุด นั่นคือ การสร้างการเป็นนายเหนือตัวเอง (personal mastery) โดยคำนี้เป็นการทำให้เราเป็นนายเหนือตนเองหรือทำให้ตนเองยิ่งใหญ่ เป็นมนุษย์ที่แท้
ลักษณะการพัฒนาตนเองสู่ความเป็นผู้นำจึงเริ่มจากการที่ตั้งคำถามต่อชีวิต โดยคำถามที่หนึ่ง อาจเริ่มด้วย อยากให้เราลองย้อนความทรงจำของตัวเองว่าประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาจนถึงทุกวันนี้ อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของตนเอง
และสิ่งที่สำคัญนี้ ทำไมจึงสำคัญ มีคุณค่าตรงไหน อธิบายให้ละเอียด
คำถามต่อไป คือ เมื่อมันมีค่ากับเรามาก เราพร้อมจะสร้างให้ดีไหม พร้อมจะกล้าเสี่ยงที่จะทำให้เป็นจริงไหม
คำถามสุดท้าย สิ่งนั้นสำคัญเพราะอะไร เพราะท้ายที่สุดแล้ว เราล้วนเกี่ยวข้องกับคุณค่าหลัก (core value) ที่เรายึดถือ
เช่นตัวอย่างว่า คุณค่าหลักของเขาคือการทำให้เกิดประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะเขามีประสบการณ์ชีวิต คือเมื่อตอนอายุ ๓ ขวบ เขาได้ไปบ้านญาติที่มีเงินทอง เป็นญาติใกล้ชิดกัน แต่บ้านผมไม่มีเงินทอง พอไปถึง เขาให้เรานั่งที่คนใช้ ภาพนั้นทำให้เขาเจ็บปวดกับความไม่เท่าเทียม รู้สึกว่าความเป็นมนุษย์ของเราต่ำลง มนุษย์เกิดมาต้องเท่าเทียมกัน ต้องมีศักดิ์ศรีจึงนำไปสู่ความคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เรื่องนี้เป็นไปได้ (นภา ธรรมทรงศนะ, ๒๕๕๗)
ฉะนั้น การเข้าใจตนเองจึงเป็นฐานของการเข้าใจสิ่งภายนอก การปฏิบัติตนและการเลือกบางอย่าง ไม่เลือกบางอย่าง และที่สำคัญการจะพัฒนาตนเองให้เป็นนายเหนือตนได้จำเป็นต้องสร้างการรู้ตัวเองให้เกิดขึ้น
๒. ขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม
๑) พระวิทยากรที่นำกิจกรรมหน้าเวทีอธิบายและชี้แจงเกี่ยวกับกิจกรรม “สายน้ำแห่งชีวิต” ให้ผู้เข้าอบรมทราบและเข้าใจ หลังจากนั้นก็แจกกิจกรรม ให้ลงกลุ่มพร้อมแจกอุปกรณ์ทำกิจกรรมให้ทุกกลุ่ม (๕ นาที)
๒) ผู้เข้าอบรมแต่ลงกลุ่ม และพระวิทยากรแจ้งให้ทุกคนในกลุ่ม นั่งวงกลม พร้อมกราบผู้มีพรรษาสูงสุดในกลุ่ม และพระวิทยากรกล่าวทักทายสมาชิกในกลุ่มสร้างความเป็นกันเอง และอธิบายกิจกรรม “สายน้ำแห่งชีวิต” ให้สมาชิกในกลุ่มเข้าใจ พร้อมแจกกระดาษและอุปกรณ์ในการทำกิจกรรม ( ๕ นาที)
๓) ทุกคนนกลุ่มลงมือวาดภาพสายน้ำแห่งชีวิตของตนเอง กล่าวคือเล่าเรื่องชีวิตของตนผ่านสายน้ำตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ความเป็นมาของชีวิตตนเอง ซึ่งนอกจากสายน้ำแล้วในภาพก็จะมีองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น ต้นไม้ ภูเขา ก้อนหิน เมฆ ฯ เป็นต้น ต้องเล่าให้ได้ว่าเกี่ยวข้องกับชีวิตของเราได้อย่างไร (๒๐ นาที)
๔) เมื่อทุกคนวาดภาพสายน้ำแห่งชีวิตของตนเองเสร็จ พระวิทยาในกลุ่มนำเข้าสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน โดยทำข้อตกลงในกลุ่มร่วมกันจะเล่าคนละประมาณกี่นาที ใครจะเล่าก่อน หรือจะเริ่มจากใคร แล้วก็ให้ทุกคนได้เล่าสายน้ำแห่งชีวิตของตนเองให้ครบทุกคน (๕๐นาที)
๕) เมื่อสมาชิกทุกคนในกลุ่มพูดสายน้ำแห่งชีวิตครบทุกคนแล้ว พระวิทยากรในกลุ่มนำเข้าสู่การถอดบทเรียนร่วมกันโดยให้สมาชิกในกลุ่มช่วยกันแลกเปลี่ยนว่าการทำกิจกรรมครั้งนี้ได้แง่คิดอะไร และรู้สึกอย่างไร และพระวิทยากรประจำกลุ่มสรุปปิดท้าย (๑๕ นาที)
๓. บรรยากาศการดำเนินกิจกรรม
บรรยากาศการดำเนินกิจกรรมในกลุ่มระหว่างพระวิทยากระประจำกลุ่มและสมาชิกในกลุ่ม แบ่งออกเป็นหลายช่วงด้วยกันดังนี้
ช่วงที่หนึ่ง พระวิทยากรได้อธิบายถึงเงื่อนไข และแนวทางการดำเนินกิจกรรมสายน้ำแห่งชีวิต โดยอธิบายว่าต่อไปนี้พวกเราจะมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน ผ่านกิจกรรมสายน้ำแห่งชีวิต ถ้าเปรียบชีวิตเราเหมือนสายน้ำสายหนึ่ง แม่น้ำสายนี้มันไหลมาจากไหน ปัจจุบันมันไหลอยู่อย่างไร และอนาคตมันจะไหลไปอย่างไร ให้ทุกคนได้วาดภาพชีวิตของตนเองตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ได้เล่าเรื่องราวชีวิตผ่านสายน้ำ มีกระดาษให้ ๑ แผ่น พร้อมสีเทียน ๑ กล่อง ให้ใช้ด้วยกัน
ช่วงที่สอง ขณะที่ผู้เข้าอบรมหรือสมาชิกในกลุ่มได้ลงมือวาดภาพ ทุกคนก็ตั้งใจ และอยู่กับตนเอง ทุกคนก็ได้จินตนาการชีวิตตนเองผ่านสายน้ำ นอกจากสายน้ำแล้วทุกคนก็มีองค์ประกอบชีวิตอื่น ๆ เช่น ต้นไม้ ก้อนหิน สะพาน ภูเขา ท้องฟ้า พระอาทิตย์ ปลาลอยในน้ำ เป็นต้น
ช่วงที่สาม หลังจากที่ทุกคนได้วาดสายน้ำแห่งชีวิตของตนเสร็จแล้ว พระวิทยากรก็เริ่มด้วยคำพูดว่า ต่อจากนี้ไปถือว่าเป็นช่วงเวลาที่มีค่ามากที่สุด ช่วงหนึ่งของชีวิตเพราะกระดาษที่ท่านถืออยู่ในมือนั้น มันคือชีวิตของเราทั้งชีวิต และสิ่งที่จะทรงคุณค่ายิ่งกว่านั้นก็คือการที่เราได้มาแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ประสบการณ์ชีวิตของทุกคนไปพร้อมกัน เปิดใจ พูดคุยด้วยความจริงใจ และตั้งใจฟัง
ผู้เข้าอบรมหรือสมาชิกในกลุ่มก็เริ่มพูดคุยสายน้ำแห่งชีวิตของตนทีละคนไปเรื่อย ๆ จนครบทุกคนในกลุ่ม ซึ่งระหว่างที่ทุกคนได้เล่าสายน้ำแห่งชีวิตของตนนั้น อารมณ์ของผู้เล่าก็เหมือนได้ปลดปล่อย ได้ผ่อนคลาย เพราะได้พูดในสิ่งที่ไม่สบายใจ หรือสิ่งที่คาใจ อยู่ในใจ บางคนก็มีอารมณ์เศร้า เพราะได้ไปพูดในเรื่องที่ผิดพลาดของตนไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ชีวิต ครอบครัว เพื่อน ความรัก เป็นต้น
ช่วงสุดท้าย เมื่อเล่าจบพระวิทยากรในกลุ่มก็ได้ย้อนถามทุกคนว่าเราได้เล่าสายน้ำแห่งชีวิตของตน และได้ฟังคนอื่นด้วยทุกคนรู้สึกอย่างไรบ้าง และสมาชิกในกลุ่มทุกคนก็ช่วยกันสะท้อนและแสดงความคิดคิดเห็น หลังจากนั้น พระวิทยากรประจำก็ได้สรุปกิจกรรม
๔. ความรู้สึกของผู้เข้าร่วมกิจกรรม
เมื่อผู้เข้าอบรมเข้าร่วมกิจกรรม “สายน้ำแห่งชีวิต” ก็จะมีความรู้สึก หรือได้มุมองแง่คิดจากการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ โดยการสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ดังนี้
๑) ได้เห็นมุมองของชีวิตที่หลากหลาย เพราะนอกจากจะได้เล่าเรื่องของตนเองแล้ว ยังได้ฟังเรื่องเล่าชีวิตของคนอื่น ๆ ในกลุ่ม ซึ่งจะเห็นว่าแม้บางครั้งชีวิตเราจะพบเจออุปสรรคปัญหามากมาย ทุกข์เหลือเกิน คิดว่าในโลกนี้คงมีเราคนเดียวที่โชคร้ายที่สุดต้องมาเจอเรื่องแบบนี้ แต่วันนี้เมื่อได้ฟังเรื่องเล่าชีวิตของเพื่อน ๆ ในกลุ่มทำให้รู้ว่าความทุกข์ หรืออุปสรรคปัญหาที่ถาโถมเข้ามาในชีวิตไม่ใช่มีแต่เราเพียงคนเดียวเท่านั้น ซึ่งคนอื่นเขาก็ต้องพบเจอเช่นเราเหมือนกัน กิจกรรมนี้จึงทำให้เราได้เข้าใจชีวิต และเห็นความเป็นจริงของชีวิต
๒) เมื่อได้เข้าร่วมกิจกรรมแล้วสิ่งที่เห็นได้เด่นชัดที่สุดคือทำให้เราได้เรียนรู้อยู่ ๒ ประการ ดังนี้
หนึ่ง ทำให้เราได้เรียนรู้ใจของเรา
เพราะเราได้ถ่ายทอดชีวิตของเราตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ผ่านสายน้ำ ผ่านรูปภาพ ให้เราได้ทบชวนชีวิตของเรา ใจของเรา ที่ผ่านมาพบเจอ และได้เรียนรู้มีบทเรียนอะไรบ้าง เมื่อได้เรียนรู้อดีตแล้ว นำมาสู่การเรียนรู้ปัจจุบัน นำบทเรียนในอดีตมาใช้ปัจจุบัน ทบทวนเรียนรู้หน้าที่ในปัจจุบันของเรา ซึ่งจะนำไปสู่อนาคต เพราะอนาคตจะเป็นอย่างไร อยู่ที่การกระทำของเราในปัจจุบัน พร้อม ๆ กับการวางแนวทางในการดำเนินชีวิตของเราในอนาคตไปด้วย
สอง ทำให้เราได้เรียนรู้จากคนอื่น
กล่าวคือ นอกจากเราจะได้เรียนรู้ใจของตนเองได้อย่างลึกซึ้ง ยังเป็นโอกาสดีที่เราได้รู้ชีวิตของคนอื่นไปด้วย ทำให้เห็นความเป็นไปของชีวิตคนอื่นทั้งยังได้นำบทเรียนชีวิตของเพื่อนสมาชิกในกลุ่มที่หลากหลายนำมาปรับใช้กับตัวเราได้
๓) การได้ทำกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ “สายน้ำแห่งชีวิต” โดยส่วนตัวแล้ว รู้สึกดีใจ ประทับใจ และภูมิใจ รู้สึกดีกับชีวิตอย่างบอกไม่ถูก เพราะช่วงเวลาที่จะได้อยู่กับตนเองเช่นนี้หายากมาก โดยเฉพาะการจะได้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสมาชิกเพื่อ ๆ ในกลุ่มที่หลากหลายแบบนี้ยิ่งยากกว่าเดิมอีก นอกจากนั้นแล้วยังทำให้เราได้เห็นความแตกต่างชีวิตชีวิตอันหลากหลายของสมาชิกในกลุ่มที่ทำกิจกรรมด้วยกัน และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นกับทุกคนคือไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับชีวิตจะเลวร้ายขนาดไหน แต่ชีวิตของทุกคนต้องดำเนินต่อไป
๔) เป็นการถ่ายทอดความคิดของตนเองออกมาให้ผู้อื่นได้รับฟัง และเปลี่ยนกันในกลุ่ม เป็นความคิดของชีวิตตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะได้ถ่ายทอดวิธีคิดของการแก้ปัญหา หรือวิธีคิดกับการรับกับอุปสรรคปัญหาที่เข้ามาในชีวิต และที่สำคัญเมื่อเราร่วมกิจกรรมสายน้ำแห่งชีวิตก็จะทำให้เราชัดเจนในการดำเนินชีวิต กล่าวคือ ทำให้เราได้รู้ว่าชีวิตของเราควรดำเนินหรือเดินไปในทางไหน
๕. สรุปและข้อเสนอแนะ
๑) สรุป
กิจกรรมสายน้ำแห่งชีวิตมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้เข้าใจตนและผู้อื่น พร้อม ๆ กับการทบทวนชีวิตของตนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ตลอดถึงการแลกเปลี่ยนเรียน ประสบการณ์ต่าง ๆ ของชีวิตระหว่างตนเองกับผู้เข้าอบรม เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม อันจะส่งผลให้นำบทเรียนของชีวิตของคนอื่นมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตของตนเองได้อีกด้วย และสายน้ำแห่งชีวิตจึงเป็นกระบวนการที่ต้องหมั่นทบทวนตนเองและเรียนรู้ คนอื่น เข้าใจตน เข้าใจคนอื่น ก็จะส่งผลให้สำเร็จทุกอย่างได้
กิจกรรมสายน้ำแห่งชีวิตยังเป็นเป็นกิจกรรมเพื่อให้ผู้เข้าอบรมเรียนรู้ ฝึกทักษะการฟัง การจะเป็นพระวิทยากร หรือเป็นพระภิกษุ นำธรรมะไปเยียวยาใจให้กับผู้อื่นได้ ต้องเป็นผู้ฟังให้มากกว่าที่ได้ยิน เพราะการที่จะไปสื่อสารธรรมะให้กับคนภายนอก หรือผู้ที่ทุกข์ตรอมใจ ต้องการธรรมะโอสถ ถ้าเราไม่เรียนรู้ที่จะฟังเขาเหล่านั้น เราก็ไม่สามารถบอกสิ่งที่เขาต้องการหรือข้อธรรมที่จะเยี่ยวยาใจได้ตรงใจเขาได้ แม้บางครั้งเราต้องการที่จะบอกตามใจของเรา แต่จะเชื่อได้อย่างไรว่าสิ่งที่เราแนะนำนั้นมันเป็นสิ่งที่เขาต้องการหรือช่วยคลายทุกข์ให้เขาได้
ดังนั้น สายน้ำแห่งชีวิตของเราไม่ว่าจะไหลไปทางไหนก็ตาม ถ้าเราใช้สติปัญญาประคับประคองสายน้ำหรือชีวิตของเราให้อยู่ในล่องลอย ให้น้ำไหลอยู่ในคูในคลอง เราก็จะเป็นประโยชน์ต่อมวลมหาชน
แต่ถ้าสายน้ำสายนี้หรือชีวิตของเราออกนอกล่องนอกลอย ขาดสติปัญญาไม่สามารถควบคุมทิศทางการไหลของตนเองได้ เช่น วู่วาม อารมณ์ร้อน ตัดสินใจผิดพลาด ก็เหมือนน้ำที่เชี่ยวกลาดก็จะส่งผลให้เราทำร้ายคนอื่นได้
หรือทำร้ายทุกสิ่งที่ขวางหน้า ถึงกระนั้นก็ตามเราควรให้สายน้ำแห่งชีวิตของเรา เป็นสายน้ำที่ไหลไปที่ไหนก็ให้เกิดแต่ความร่มเย็น ชุ่มช่ำ แก่ประมวลประชาราษฎร์ แต่ไม่ควรเป็นสายน้ำที่ไหนไปที่ไหนก็เกิดน้ำท่วม หรือทำลายชีวิต และเป็นโทษแค่ผู้คนที่อยู่ใกล้
๒) ข้อเสนอแนะ
การดำเนินกิจกรรมสายน้ำแห่งชีวิตซึ่งเป็นกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์ อาศัยกิจกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนกระบวนการให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนไปด้วยกัน ในการถอดองค์ความรู้กิจกรรมดังกล่าวนี้ ผู้ถอดบทเรียนจึงมีข้อเสนอแนะสำหรับการทำกิจกรรมในครั้งต่อไปดังนี้
๑. จำนวนผู้เข้าอบรมของแต่ละกลุ่มที่จะดำเนินกิจกรรมสายน้ำแห่งชีวิต สมาชิกจำนวนกลุ่มควรอยู่ระหว่าง ๑๐-๑๕ คน และเวลาลงกลุ่มทำกิจกรรมควรอยู่ระหว่างหนึ่งชั่วโมงครึ่งถึงสองชั่วโมง
๒. ผู้นำกิจกรรมกระบวนหรือพระวิทยากรประจำกลุ่มเวลาลงกลุ่มทำกิจกรรมควรบริหารเวลาให้ลงตัวจะให้วาดภาพเวลาเท่าไหร่ จะเหลือเวลาพูดเท่าไหร่ เพราะกิจกรรมนี้ควรให้ได้พูดทุกคน ควรบริหารจัดการเรื่องเวลาให้ลงตัว
๓. ระหว่างดำเนินกิจกรรมจะพบปัญหาอยู่ ๒ ประการซึ่งพระวิทยากรประจำกลุ่มต้องปรับหรือละลายทัศนคติของผู้เข้าอบรมในประเด็นดังนี้
ประการที่หนึ่ง ผู้เข้าอบรมไม่กล้าวาดภาพ เพราะคิดว่ากลัวภาพออกมาไม่สวย วาดภาพไปแล้วไม่สวย พระวิทยากรประจำกลุ่มต้องพูดเพื่อให้ผู้เข้าอบรมว่าภาพสวยไม่สวยไม่สำคัญ เพราะสิ่งที่สื่อออกมา หรือวาดเป็นภาพออกมา คือสิ่งที่ทรงคุณค่าที่สุดเพราะนั้นคือชีวิตของเรา
ประการที่สอง ไม่กล้าพูด หรือเล่าชีวิตของตนเอง เพราะใจยังไม่เปิด หรือไม่อยากให้คนอื่น รู้เรื่องราวชีวิตของตนเอง พระวิทยากรประจำกลุ่มต้องพยายามพูดหรืออธิบายให้ทุกคนในกลุ่มเห็นว่าการที่จะได้มาอยู่รวมกันในกลุ่มถือว่าเป็นความโชคดีของเราที่จะได้มาแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ประสบการณ์ของกันและกัน ดังนั้นเวลาตรงนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตของเรา
๔. การดำเนินกิจกรรมพระวิทยากรต้องมีเป้าประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้ตนเอง และคนอื่น ผ่านกิจกรรมกระบวนการสายน้ำแห่งชีวิตให้มากที่สุดเท่าที่เขาจะเรียนรู้ได้ ไม่ใช่เพื่อให้เขาร้องเศร้า หรือร้องไห้ ในการเล่าเรื่องของตนเอง ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ
เอกสารอ้างอิง : นภา ธรรมทรงศนะ. (๒๕๕๗). บันทึกการเรียนรู้ Authentic Leadership. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยมหิดล. / โสรีย์ โพธิแก้ว. (๒๕๕๗). จากจิตวิทยาสู่พุทธธรรม. พิมพ์ครั้งที่ ๒. นครปฐม : ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, ๒๕๕๗.
ชุดความรู้จากกิจกรรม “สายน้ำแห่งชีวิต” โดยพระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม แนวคิด โดย พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี สถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ