ธรรมนิพนธ์ เรื่อง "หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน" เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) พิมพ์ครั้งที่ ๙ : สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙  สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) พิมพ์ครั้งที่ ๙ : สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน

“การทำบุญนั้น

ไม่จำเป็นต้องไปขวนขวายแสวงบุญ จากที่ไหน

เพราะบุญอยู่ในตัวเรา

จึงควรขวนขวายแสวงบุญในตัวเรานี้แหละ

เราสามารถทำบุญได้ตลอดทั้งวัน

ตั้งแต่ตื่นนอนจวบจนเมื่อหัวถึงหมอน

กายเป็นที่ตั้งแห่งบุญ

วาจาเป็นที่ตั้งแห่งบุญ

ใจเป็นที่ตั้งแห่งบุญ

แสวงบุญจากกาย วาจา ใจ

ด้วยการทำดี คิดดี ตลอดวัน

เราก็สามารถทำบุญได้ตลอดวัน”

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เมื่อครั้งยังเป็นพระมหาเทอด ญาณวชิโร
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เมื่อครั้งยังเป็นพระมหาเทอด ญาณวชิโร

“หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน”

จดหมายถึงโยมแม่ใหญ่

ฉบับที่ ๓ (ตอนที่ ๒ )

“แก่นสารการบวช”

เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

โยมแม่ใหญ่จูม วงศ์ชะอุ่ม (คุณย่า) และ โยมพ่อใหญ่โทน วงศ์ชะอุ่ม (คุณปู่)
โยมแม่ใหญ่จูม วงศ์ชะอุ่ม (คุณย่า) และ โยมพ่อใหญ่โทน วงศ์ชะอุ่ม (คุณปู่)

แก่นสารการบวช

การบวช หรือ การบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนานั้น ถือว่าเป็นการเจริญรอยตามแบบอย่างขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระองค์ทรงเป็นโอรสของกษัตริย์  ควรที่จะหาความสำราญอย่างโอรสกษัตริย์ทั้งหลาย  แต่พระองค์กลับทรงเสียสละทุกอย่างเพื่อออกผนวช คือ การบวช ทรงแสวงหาธรรมะที่จะเป็นเครื่องกำจัดความทุกข์จนได้ตรัสรู้ พบธรรมะตามที่ทรงประสงค์

ในที่สุด ไม่เพียงแต่เท่านั้น พระองค์ยังอาศัยพระมหากรุณาอันยิ่งใหญ่ ออกเทศนาสั่งสอนผู้คนให้รู้ความเป็นจริงของชีวิต  ถอนผู้คนจากความทุกข์ ความเศร้าโศกเสียใจ  ผู้ที่มีศรัทธาเลื่อมใสออกบวชตามพระพุทธองค์เป็นจำนวนมาก 

“แม้ผู้ที่บวชในปัจจุบันนี้

ก็ถือว่าเป็นการบวชตามองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นกัน”

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ในทางพระพุทธศาสนา ได้แสดงเรื่องการบวชไว้ว่า เป็นสิ่งที่ให้สำเร็จประโยชน์ ได้อย่างสมบูรณ์  ประโยชน์ที่ว่านี้เกี่ยวเนื่องกับการประพฤติปฏิบัติดีด้วยกาย วาจา ใจนั่นเอง

ประโยชนจากการบวชนั้นมีหลายอย่างด้วยกัน จะขอกล่าวแต่ย่อๆ ๓ อย่างเท่านั้น

ประโยชน์อย่างแรก

  การบวชเป็นความต้องการของผู้คนทั้งหลาย ผู้คนทั้งหลายต้องการความเป็นผู้มีความสุขกายสุขใจ ความเป็นผู้มีชื่อเสียง คนนับหน้าถือตาในสังคม  ด้วยถือว่า  ผู้ที่ผ่านการบวชเรียนเขียนอ่านแล้วก็จะเป็นคนดี น่าคบค้าสมาคม  เมื่อคบเข้าแล้วก็เป็นที่หวัง หรืออุ่นใจ จะไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายแก่ ชื่อเสียงเกียรติยศ  พ่อแม่หวังจะประกาศให้ผู้คนรู้ว่า ลูกท่านเป็นคนดีน่าคบค้าสมาคม จึงอุตส่าห์ขวนขวายให้ลูกได้บวช

ประโยชนอย่างที่สอง

การบวชเป็นประโยชน์เกี่ยวกับจิตใจ ถ้าจิตใจไม่มีความวิตกกังวลใด ๆ ไม่มีไฟ คือ ความโกรธ ความเกลียด ความอิจฉาริษยา เป็นต้น แผดเผาให้รุ่มร้อน  จิตใจก็จะสงบ  ทำให้เกิดความสุขได้ในระดับหนึ่งเช่นกัน

“คนที่ผ่านการบวช

ก็เท่ากับว่าผ่านการฝึกกลั่นกรอง

ไม่ให้ความกังวลเข้ามาสู่จิต

  ฝึกป้องกันไม่ให้ไฟ

คือ ความโกรธแผดเผาตน เป็นต้น

 ผู้ที่ผ่านการบวช

และได้รับการฝึกหัดขัดเกลาที่ดี

จึงมักจะมีความละเอียดสุขุมลุ่มลึก 

มีความยับยั้งชั่งใจได้มากขึ้น”

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ประโยชน์อย่างที่สาม 

  การบวชเป็นประโยชน์ที่เกิดจากการทำลายกิเลสให้หมดสิ้นไป  ซึ่งเป็นประโยชน์สูงสุดที่พระพุทธศาสนาสอน แม้จะปฏิบัติให้สำเร็จได้ ยาก  ถึงอย่างนั้น  การบวชก็เป็นการฝึกหัดขัดเกลาจิตใจให้อ่อนโยนงดงาม  ไม่หยาบกระด้าง  ไม่ก้าวร้าวรุนแรง  มีความโอบอ้อมอารี เห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากยิ่งขึ้น

“บวชแล้วได้เห็นใจตนเอง

ยังได้เห็นอกเห็นใจผู้อื่นอีกด้วย”

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เมื่อครั้งยังเป็นพระมหาเทอด ญาณวชิโร กับคณะสงฆ์ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ทำหน้าที่เป็นพระพี่เลี้ยงพระใหม่
พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เมื่อครั้งยังเป็นพระมหาเทอด ญาณวชิโร กับคณะสงฆ์ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ทำหน้าที่เป็นพระพี่เลี้ยงพระใหม่

ประโยชนที่เกี่ยวกับจิตใจและการละกิเลสดังกล่าวนี้  เป็นประโยชน์โดยตรงต่อจิตใจของผู้บวช  ถึงแม้ว่าอาจไม่เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์  แต่ก็เป็นการสร้างบารมีเพื่อความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นในภายหน้า  ที่ว่าการบวชได้เห็นใจ เห็นตน คือได้เห็นความรู้สึกนึกคิดของตนเองชัดเจนมากยิ่งขึ้น  เนื่องจากมีเวลาปฏิบัติฝึกหัดขัดเกลาจิตอย่างสมบูรณ์ จึงมีโอกาสได้เห็นตัวตนที่แท้จริงของเราว่าเป็นคนอย่างไร

นอกจากการบวชจะมุ่งประโยชน์ดังที่กล่าวไปแล้ว  การบวช ยังได้ชื่อว่าเป็นการตอบแทนบุญคุณของมารดาบิดาอีกทางหนึ่งด้วย  เพราะพ่อแม่เห็นว่า เป็นทางหนึ่งที่จะช่วยเสริมชีวิตลูกให้ดีขึ้น เสริมบุญเสริมบารมี เสริมจิตใจ เสริมความเจริญก้าวหน้า เสริมเกราะป้องกันจากผู้จองเวร ฯลฯ

โดยเฉพาะ ส่งเสริมทางด้านจิตใจ เช่น ท่านอาจจะเห็นว่า ลูกเป็นคนไม่ ละเอียดอ่อน ใจร้อน วู่วาม หุนหันพลันแล่น  เจ้าโทสะ ท่านก็ต้องการเห็นลูกเป็นคนสุขุมเยือกเย็น  จึงอยากให้ลูกเข้าไปบวชในพระพุทธศาสนา  เพื่ออบรมขัดเกลาจิตใจให้เย็นลง  เป็นการแสดงถึงความปรารถนาดีของพ่อแม่  เมื่อลูกได้บวช ก็เป็นการสนองความปรารถนาดีของพ่อแม่

ลูกที่รู้จักตอบสนองความปรารถนาดีของพ่อแม่นั้น  ถือได้ว่า เป็นการตอบแทนพระคุณท่านอีกทางหนึ่ง  เพราะเมื่อลูกบวช พ่อแม่ก็เกิดความเบาใจ และยังมีโอกาสได้ทำบุญทำทาน มีโอกาสได้เข้าวัด สวดมนต์  ฟังเทศน์ รักษาศีล  หรือที่ทำอยู่แล้ว ก็ได้ทำมากขึ้นเป็นพิเศษ  ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแก่พ่อแม่  การบวชของลูก ก็เท่ากับว่า ลูกผู้บวชนั่นเอง เป็นสื่อให้พ่อแม่ได้ทำบุญ

นอกจากนั้น  ในทางพระพุทธศาสนายังถือว่า การบวช เป็นการช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา เพราะช่วงเวลาที่เขาไปบวชเรียนอยู่นั้น จะต้องใช้ชีวิตอย่างสมถะสงบเสงี่ยม เรียบง่าย  ไม่กล่าวร้าย  ไม่ว่าร้าย  ไม่ทำร้ายใคร ๆ อย่างที่เรียกว่า

“บรรพชิต” คือ เป็นผู้ที่ละเว้นในสิ่งที่ไม่ควร ไม่เหมาะสม

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

การดำเนินชีวิตเช่นนี้  ชื่อว่า เป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวออกไป  เพื่อเป็นประโยชนแก่คนในรุ่นหลังหลัง  เปรียบเสมือนนำเอาชีวิตของเราเข้าไปเพื่อสืบต่อพระศาสนานั่นเอง  และพ่อแม่ก็ชื่อว่าได้สืบต่ออายุพระศาสนา  เพราะด้วยชีวิตของลูกที่ไปบวชก็เป็นชีวิตที่เกิดจากพ่อแม่เลือดและเนื้อที่เจริญเติบโตอยู่ในร่างกาย  เป็นตัวเป็นตนของลูก ก็เป็นเลือดเนื้อจากอกของพ่อแม่นั่นเอง เลือดเนื้อที่พ่อแม่ให้ไว้ เกิดเป็นชีวิตของลูกขึ้นมา ก็ได้นำไปต่ออายุพระศาสนา

“การต่ออายุพระศาสนาด้วยการบรรพชาอุปสมบทของลูกนั้น

จึงมีอานิสงส์มาถึงพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดอีกด้วย”

พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

อนึ่ง ในเรื่องอานิสงส์ของการบวชเพื่อตอบแทนค่าน้ำนมของมารดาบิดานี้โบราณจารย์ท่านแสดงอุปมาไว้ว่า

ถึงแม้มีบุคคลผู้ทรงฤทธิ์ เหาะไปเก็บดอกไม้จากป่าอันกว้างใหญ่ไพศาลมาสักการบูชาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งพันองค์  กระทำอยู่อย่างนี้ทุกวันมิได้ขาด ตลอดกาล อานิสงส์นั้นจะนำมาเปรียบกับการได้บวชในพระพุทธศาสนาไม่ได้เลย

หรือแม้จะถวายจตุปัจจัยทั้ง ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และยารักษาโรค แด่พระพุทธเจ้าถึงโกฏิองค์  อานิสงส์นั้นจะนำมาเปรียบกับการได้บวชในพระพุทธศาสนาไม่ได้เลย

หรือถึงแม้จะมีมหาเศรษฐีจัดสร้างพระพุทธรูปให้เต็มห้วงจักรวาลนี้  แล้วกระทำการสักการะด้วยแก้วทั้ง ๗ ประการ กองประมาณเท่าภูเขา สูง หลายร้อยหลายพันโยชน์  อานิสงส์นั้นจะนำมาเปรียบกับการได้บวช ในพระพุทธศาสนาไม่ได้เลย

และหากจะมีเทพบุตรองค์หนึ่ง เป็นผู้มีฤทธานุภาพมาก เสกเอาพื้นปฐพีอันหนาได้สองแสนสี่หมื่นโยชน์ มาขยี้ทำให้เป็นผงใช้แทนหมึก แล้วเอามหาสมุทรลึก แปดหมื่นสี่พันโยชน์มาละลาย เอาภูเขาสิเนรุสูงถึงแปดหมื่นสี่พันโยชน์เป็นปากกา สำหรับเขียน เอาท้องฟ้าอันราบเรียบกว้างใหญ่ไพศาลหาที่สุดมิได้ เป็นสมุดจดจารึกบันทึกผลบุญของบุคคลผู้ได้บรรพชา อุปสมบทในพระพุทธศาสนา เขียนด้วยปากกาคือ ภูเขา จนสิ้นหมึกคือพื้นพสุธา สิ้นกระแสชลคือมหาสมุทร ขีดเขียนไปจนหมดหนังสือคือท้องฟ้า จะพรรณนาคุณแห่งการบวชให้หมดนั้น ไม่มี

ธรรมนิพนธ์ เรื่อง "หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน" เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) พิมพ์ครั้งที่ ๙ : สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙  สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน
ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) พิมพ์ครั้งที่ ๙ : สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ สำนักพิมพ์อนันตะ ฉบับธรรมทาน

จดหมายถึงโยมแม่ใหญ่ ฉบับที่ ๓ (ตอนที่ ๒) “แก่นสารการบวช” จาก ธรรมนิพนธ์เรื่อง “หลักการทำบุญและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” เขียนโดย พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here