บททดสอบ
ศักยภาพของมนุษย์ สะท้อนให้เห็น

ค่าแห่งคำอธิษฐาน

การตั้งความปรารถนาอย่างแน่วแน่
ที่จะทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้บรรลุเป้าหมาย
เป็นเรื่องของใจที่มุ่งมั่นจะทำเรื่องที่กำหนดไว้ให้สำเร็จ
จะสำเร็จได้หรือไม่นั้น อยู่ที่การลงมือทำด้วยตนเอง.

ค่าแห่งคำอธิษฐาน

๕. คำอธิษฐานของสามเณร

เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

๕.

คำอธิษฐานของสามเณร

“ขอความปรารถนาของข้าพเจ้า
จงสำเร็จถึงซึ่งที่สุด ทุกประการเทอญ”  

จากคำอธิษฐานของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)ที่ยกมานี้  ซึ่งท่านเขียนไว้ด้านหลังนามบัตรของท่าน เมื่อครั้งเป็นสามเณร  ทำให้ผู้เขียนเห็นความสำคัญของการอธิษฐานจิตของท่านอย่างสม่ำเสมอ อย่างเช่น การทำวัตรสวดมนต์ ทำสมาธิ และแผ่เมตตาในห้อง ก่อนเดินไปสวดมนต์ทำวัตรค่ำพร้อมๆกับพระเณร ในเวลา ๓ ทุ่มทุกวัน
              ฉะนั้น ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม บนหนทางสู่ความพ้นทุกข์นี้  จำเป็นที่ต้องสร้างอธิษฐานบารมีไปพร้อมๆ กับการภาวนาและการเผยแผ่ธรรม ทำให้เห็นว่า ในที่สุด ด้วยพลังแห่งจิตอธิษฐาน  เจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงมีข้อวัตรในการปฏิบัติ กับทั้งปฏิปทา และการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ลุล่วงไปด้วยดี โดยไม่มีอุปสรรคใดๆ ขวางกัน
              แม้ธาตุขันธ์ท่านดับสูญไปแล้ว แต่ดอกบัวดอกแล้วดอกเล่าที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ส่งออกไปปลูกยังดินแดนที่ปราศจากพระพุทธศาสนา เริ่มเบ่งบานตามปณิธานอันยิ่งใหญ่ของท่านที่อุทิศตนเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตราบลมหายใจสุดท้าย  บัดนี้มีวัดไทยกว่า ๕๐๐ วัด ตั้งมั่นกระจายอยู่ทั่วทุกมุมของโลก เป็นไปตามคำกล่าวของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ที่ว่า “ดอกบัวจะบานกลางหิมะ”

อธิษฐานกถา และปัญญาที่ควรตั้งไว้
              จึงขอยกส่วนหนึ่งของพระธรรมเทศนา “อธิษฐานกถา” ซึ่ง เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ พระพรหมคุณาภรณ์ ได้แสดงไว้ ในรายการวิทยุของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๓๒ มาเป็นพลวปัจจัย อันเป็นกำลังส่งที่สำคัญที่จะนำให้เรามีพลังในการบำเพ็ญคุณงามความดีด้วยสติและปัญญาอย่างเต็มกำลัง ตอนหนึ่งว่า


              บุคคลผู้ประกอบกิจการงานทั้งทางโลก และทางธรรม จำต้องมีหลักประจำใจ ตั้งแต่ดำริกิจการนั้นๆ จึงต้องมีหลักการ วิธีการ และการดำเนินการอย่างถูกต้อง แม้จะพลาดผิดไปบ้าง ก็เพียงส่วนน้อย หลักประจำใจนั้นต้องเป็นหลักที่ดี ที่ถูกต้องและมั่นคงแน่นอน ในพระพุทธศาสนา
              พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงหลักประจำใจไว้ เรียกว่า “อธิษฐาน” ซึ่งหมายถึงฐานอันเป็นที่ตั้งที่มั่นคง มี ๔ ประการ คือ ๑. ปัญญา ๒. สัจจะ ๓. จาคะ ๔. สันติ
              พระพุทธองค์ทรงเตือนให้มีหลัก ๔ ประการนี้ ดังพระพุทธภาษิตที่มาในธาตุวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ซึ่งได้ยกขึ้นไว้ ณ เบื้องต้นนั้นว่า ปญฺญํ นปปมเชย เป็นอาทิ ซึ่งแปลความว่า ไม่พึงประมาทปัญญา จึงตามรักษาสัจจะ คือ ความจริง จึงเพิ่มพูนจาคะ คือ การสละได้ พึงรักษาสันติ คือ ความสงบ  ดังที่ปรากฏในสมัยพุทธกาลครั้งหนึ่งว่า  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปยังเมืองมคธ  ได้ทรงแวะเข้าไปในกรุงราชคฤห์  และเสด็จไปหานายช่างหม้อ  ทรงขอพักในโรงงานของแก  แต่ในโรงงานนี้ พระเจ้าปุกกุสาติ เสด็จมาประทับอยู่ก่อน พระเจ้าปุกกุสาติพระองค์นี้ได้ทรงผนวช  ด้วยทรงตั้งพระทัยแน่วแน่อุทิศต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า และมาประทับอยู่ในโรงงานช่างหม้อ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ทรงพักอยู่ในที่เดียวกันนั้น
              ครั้งถึงเวลากลางคืน  พระพุทธองค์ตรัสถามว่า  ท่านภิกษุ ท่านบวชด้วยตั้งใจอุทิศใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน  ท่านชอบใจธรรมของใคร  ท่านปุกกุสาติ  ทูลตอบว่า พระสมณโคดม ผู้เป็นโอรสศากยะ  ทรงออกผนวชจากราชสกุลศากยะ  พระสมณโคดมพระองค์นั้นทรงมีกิตติศัพท์ฟุ้งขจรไปว่า  เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  ทรงสมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติดังนี้เป็นต้น  ข้าพเจ้าบวชด้วยตั้งใจอุทิศต่อพระสมณโคดมพระองค์นั้น  พระสมณโคดมนั้นแหละเป็นศาสดาของข้าพเจ้า  ข้าพเจ้าชอบใจธรรมของพระองค์ท่าน
             
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสถามว่า เวลานี้พระสมณโคดมองค์นั้นอยู่ที่ไหน  ท่านปุกกุสาติ ทูลตอบว่า อยู่ที่กรุงสาวัตถี  ทางทิศอุดร  พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ตรัสถามอีกว่า  ท่านเคยเห็นพระสมณโคดมแล้วหรือ  เมื่อเห็นจะรู้หรือไม่        
             
ท่านปุกกุสาติ ทูลตอบว่า ไม่เคยเห็น แม้เห็นก็คงไม่รู้
             
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงดำริว่า ท่านผู้นี้บวชด้วยตั้งใจอุทิศพระองค์  พระองค์ควรแสดงธรรมให้ฟัง  จึงตรัสว่า นี่แนะท่าน ข้าพเจ้าจักแสดงธรรมให้ฟัง  ท่านจงฟัง  ตั้งใจฟังให้ดี ครั้นแล้ว พระองค์ได้ทรงแสดงธรรม ซึ่งมีอธิษฐาน ๔ ประการนั้นเป็นต้นให้ฟัง

ท่านปุกกุสาติฟังแล้วก็ทราบว่า ผู้แสดงธรรมนี้คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง  มีจิตใจเลื่อมใสบรรลุธรรมเป็นอริยบุคคลถึงขั้นพระอนาคามี  มีเรื่องโดยสังเขปด้วยประการฉะนี้ 
              ตามมูลดังแสดงนั้น ทราบได้ว่า พระปุกกุสาติ ทรงดำริการงานในทางธรรม  พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงหลักประจำใจ  เพื่อดำเนินให้ถึงจุดหมาย 
              เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ อธิบาย “อธิษฐาน ๔ ประการ” ต่อมาว่า   
              ประการที่หนึ่ง ปัญญา มีทั้งฝ่ายโลกและฝ่ายธรรม มีตั้งแต่ต้นจนถึงขั้นสูง ปัญญาที่เกื้อกูลแก่การครองชีพ หรือดำรงชีพ แม้จะเป็นเรื่องโลกๆ ก็จำต้องขวนขวายให้มีขึ้น  โดยศึกษาเล่าเรียน  โดยสดับตรับฟัง  โดยคิดค้น  หรือโดยการฝึกอบรมในภาคปฏิบัติ  การก้าวไปข้างหน้าได้  หรือแม้แต่การระวังไม่ให้ถอยหลัง  ก็เพราะการเสริมสร้างปัญญาอยู่เสมอ  การขาดปัญญานอกจากเนื่องมาจากไม่ศึกษา  ไม่คิดค้น  เป็นต้นแล้ว ยังเนื่องมาจากเหตุอันสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ความเข้าใจผิดว่า มีปัญญา ฉลาดมาก ฉลาดกว่าเขา ผู้มีปัญญาอยู่แล้ว กลับมีปัญญาน้อยลง  หรือมีปัญญาไม่ทันผู้อื่น  ก็เนื่องมาจากความเข้าใจผิดเช่นนี้  สมดังพุทธภาษิต ว่า

โย พาโล มญฺญตี พาลยํ    ปณฺฑิโต วาปิ เตน โส
พาโล จ ปณฺฑิตมานี         ส เว พาโลติ วุจฺจติฯ

แปลความว่า ผู้อ่อนปัญญา รู้ว่า ตนอ่อนปัญญา พอจะมีทางฉลาดได้ แต่ผู้อ่อนปัญญา กลับเข้าใจ จนทะนงว่า ตนฉลาด ก็จะถูกเรียกว่า “โง่”


              ประการที่แรก ผู้มีปัญญาและเข้าใจถูกต้อง น่ารัก น่านับถือ น่าบูชา ส่วนผู้อ่อนปัญญา ถ้าวางตนเหมาะสม ก็น่ากรุณาเอ็นดู ที่แสดงมานี้เป็นปัญญาเกื้อกูลแก่การครองชีพหรือดำรงชีพ เป็นฝ่ายโลก ปัญญาฝ่ายโลกที่ถูกต้อง เคารพเหตุผล ย่อมทำให้สามารถทำงานนั้นๆ ได้เหมาะสม เช่น เป็นข้าราชการคำนึงเกียรติที่ดีงาม หน้าที่ซึ่งจะต้องทำให้สำเร็จ ความสามัคคี มุ่งปรองดองกันด้วยเหตุผล และซื่อสัตย์ อันเป็นคุณสมบัติของข้าราชการ
              ส่วนปัญญาฝ่ายธรรมในที่นี้  หมายถึงปัญญาที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนาขั้นต้น จนถึงปัญญาในมรรคจิต ผลจิตอันเป็นขั้นสูง  เมื่อฝึกหัดจิตตามหลักกรรมฐานจนจิตใจมีความผ่องแผ้ว เป็นอิสระ ปัญญาก็ย่อมเกิดขึ้น ปัญญาที่เกิดจากฐานดังแสดงนี้ เป็นอาวุธทำลายกิเลสให้เบาบางลง จนถึงหมดสิ้น  ปัญญาฝ่ายธรรมกับปัญญาฝ่ายโลก ต่างอิงอาศัยกัน ปัญญาฝ่ายธรรม อาจเกื้อกูลให้เกิดปัญญาฝ่ายโลกอย่างแจ่มใสได้  เพราะจิตที่เป็นสมาธิมีกำลังตามที่ประสงค์ ปัญญามีประโยชน์ และมีวิธีจะเสริมสร้างให้เกิดขึ้นได้ดังแสดงมา
              พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงตรัสสอนว่า ไม่พึงประมาทปัญญา
              ประการที่สอง สัจจะ คือ ความจริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสัจจะคือความจริงได้ โดยนัยต่างๆ เช่น วจีสัจจะ วาจาจริง วาจาไม่เท็จ ไม่กลับกลอก ไม่สับปลับ วาจาที่มั่นคง แน่นอน สมมติสัจจะ จริงโดยสมมติ เช่น สมมติว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล หรือ สิ่งของต่างๆ ที่ถูกสมมติให้เป็นอย่างนั้นบ้าง อย่างนี้บ้าง
              แม้แต่ชื่อที่ตั้งให้แก่ร่างกาย สภาวสัจจะจริงตามสภาวะ คือ สภาวะที่แท้จริง เป็นอย่างไร ก็คงเป็นอย่างนั้น กายหรือ รูป จิต หรือ นาม มีสภาวะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ
              ปรมัตถสัจจะ จริงปรมัตถ์ คือ เป็นขันธ์ ธาตุ อายตนะ จริงๆ มิใช่ผู้นั้น ผู้นี้ ตรงกันข้ามกับสมมติสัจจะ ความจริงดังแสดงมา เมื่อบุคคลเข้าถึงย่อมอำนวยประโยชน์ ผู้พูดแต่คำจริง คำพูดมีน้ำหนัก ผู้อื่นเชื่อถือที่กล่าวกันว่า วาจาสิทธิ์ ก็เพราะพูดแต่คำจริงนั่นเอง
               ผู้เข้าใจในสมมติสัจจะ ก็จะไม่หลงในสิ่งที่สมมติ ใช้สิ่งที่สมมติให้เป็นประโยชน์ ไม่เป็นทาสของสิ่งที่สมมติเพลิดเพลินหลงใหล เมื่อวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงทั้งในทางเสีย หรือทางดี ผู้หยั่งรู้ในปรมัตถสัจจะ ย่อมคลายความต้องการ ความยึดติดด้วยหยั่งรู้ว่า ร่างกายจิตใจ เป็นแต่เพียงส่วนหนึ่ง สิ่งหนึ่ง มิใช่มีไว้สำหรับยึดติด ความยึดติดแต่โทษ สร้างความพัวพัน และภาระจำยอมไม่สิ้นสุด หลุดไปเสียได้ ปลอดโปร่ง แจ่มใส เป็นไทแก่ตน สัจจะทั้งที่เป็นขั้นต้นและขั้นสูง คือ ตั้งแต่จริงวาจา จนถึงจริงปรมัตถ์ มีประโยชน์ตามขั้นนั้นๆ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสสอนว่า จึงตามรักษาสัจจะ ดังนี้
              ประการที่สาม จาคะ การสละได้ ในที่นี้หมายถึงการสละกิเลสได้ กิเลสเป็นอุปสรรคภายในที่สำคัญ มีทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง และอย่างละเอียด อย่างหยาบมีความรุนแรง จนแสดงออกมาทางการกระทำและทางคำพูด แสดงออกมาเพื่อลิดรอนสิทธิ และริดรอนประโยชน์อย่างเดียว อย่างกลางกลุ้มรุมอยู่ภายใน ขุ่นมัว หมุนหมอง ปรุงความคิดให้ไปในทางเลวร้าย ปรุงให้มีเหตุผลประกอบในทางเลวร้ายนั้นด้วย อย่างละเอียด นอนเนื่องติดอยู่ภายใน ทำให้รู้สึกเหมือนมิตรผู้ภักดีที่ให้ความอบอุ่น ปรุงความคิดให้ละเมอเพ้อฝันที่มิได้หลับ ทำให้กระหยิ่มนึกทะนง
              พระสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้สละกิเลสอย่างหยาบด้วยการรักษาศีล อย่างกลาง ด้วยฝึกสมาธิ อย่างละเอียดด้วยการอบรมวิปัสสนาปัญญา

หากจะจำแนกกิเลสให้เป็นรายละเอียดออกไปเป็นอย่างๆ ก็จะเห็นว่า จำต้องสละให้ได้ เช่น ความเกียจคร้าน ไม่ควรเก็บไว้ ควรสละเสียด้วย ความขยัน ความเห็นแก่ตัว ควรสละเสียด้วยความมีอัธยาศัยกว้างขวาง ความบึ้งตึง ควรสละด้วยความยิ้มแย้ม ความมักง่าย ควรสละด้วยความละเอียดถี่ถ้วน
              จาคะ การสละได้เป็นการสร้างเสริม เพิ่มพูนอัธยาศัย นิสัย ให้ละมุนละไม ปราศจากความหมอง คือ กิเลส โดยลำดับ จนถึงขั้นสูงสุด มีประโยชน์เป็นอเนกประการ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสสอนว่า “พึงเพิ่มพูนจาคะ คือ การสละได้” ดังนี้
              ประการที่สี่ สันติ คือ ความสงบ หมายถึง การที่กิเลสสงบระงับ ดับลงเมื่อกิเลสสงบระงับดับลง แม้เพียงชั่วครู่ ชั่วคราว จะรู้สึกเย็นกาย เย็นใจ เมื่อได้ลิ้มรส อย่างนี้แม้เพียงครั้งเดียว แล้วพยายามสนใจศึกษา สำเนียก จดจำ และเข้าใจถูกต้อง จะเป็นคุณค่ามหาศาล ทำให้ปรารถนาที่จะได้อาการเช่นนั้นอีก และปรารถนายิ่งๆ ขึ้นไปจนถึงสันติสูงสุด สันติทรงคุณค่าดังแสดงนี้ ต้องตามพระพุทธดำรัสที่ว่า “โสดาปัตติผล มีค่าล้ำเลิศกว่าสรรพสมบัติในโลก” และท่านผู้ประสบสันตินี้แล้ว มักเปล่งอุทานออกมา
              เช่น ท่านพระมหากัปปินะ เปล่งอุทานว่า “อโห สุข อโห สุข สุขจริง สุขจริง” เพิ่งเทียบเคียงความสงบกับความฟุ้งซ่าน  กระวนกระวาย ก็พอจะมองเห็นคุณค่าของสันติ  สันติความสงบ มีประโยชน์ด้วยประการอย่างนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงตรัสสอนว่า “พึงศึกษาสันติ คือ ความสงบ” 


              พอสรุปได้ว่า อธิษฐานทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นฐานที่ตั้งอันมั่นคง ของผู้ประสงค์สุขทั้งคติโลกและคติธรรม จึงพิจารณาสร้างให้เป็นฐานตามสมควรแก่ตน ท่านสาธุชนพุทธบริษัท มักมีอธิษฐานตั้งใจที่จะทำความดี ปฏิบัติอธิษฐานธรรม ๔ ประการ คือ ปัญญา สัจจะ จาคะ สันติ จึงเป็นหลักธรรมสำคัญที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สำเร็จสมประสงค์ได้ ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ท่านปุกกุสาติ ท่านปุกกุสาติ ก็ได้สำเร็จผลตามที่ทรงมุ่งหมาย ดังข้อความที่แสดงแล้วในเบื้องต้น

ค่าแห่งคำอธิษฐาน ๕. คำอธิษฐานของสามเณร เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here