ความสงบอยู่ที่ไหน โดย พระพิทยา ฐานิสสโร
ความสงบอยู่ที่ไหน โดย พระพิทยา ฐานิสสโร

ความสงบยังคงอยู่กับเรา แม้ภายนอกอาจเลวร้าย

อาทิตย์สุดท้ายของการเข้าพรรษาฤดูหนาวที่วัดธรรมปาละ สวิตเซอร์แลนด์ นั่งตามรู้ลมหายใจขณะฟังเจ้าอาวาสชาวเยอรมันสวดปาฏิโมกข์ด้วยความคล่องแคล่ว จากนั้นได้มีการสนทนาเล็กน้อยเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ภายในวัดหลังจากจบการสวดปาฏิโมกข์ ซึ่งในช่วงพรรษาฤดูหนาวนี้ทุกๆ สองสัปดาห์ เป็นเวลาเดียวที่พระภิกษุ สามเณรอยู่กันพร้อมหน้าและมีโอกาสซักถามเกี่ยวกับการปฏิบัติและเรื่องทั่วๆ ไปของการอยู่ร่วมกันภายในวัด  เพราะตอนรับบิณฑบาตในช่วงเพลก็รับด้วยความสงบและนำไปฉันภายในกุฏิตน แม้อยู่ร่วมกันแต่แทบไม่ค่อยได้เจอหน้ากันตลอดระยะเวลา ๓ เดือน

ในสมัยพุทธกาล ใครก็ตามที่ตัดสินใจบวชเป็นพระภิกษุ และภิกษุณี ส่วนใหญ่มีจุดมุ่งหมายหลัก คือ เห็นภัยในวัฏสงสาร จึงอยากบรรพชาอุปสมบทเป็นพระ จะได้ปฏิบัติภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อดับทุกข์ทั้งมวลในตนและเกื้อกูลประโยชน์นั้นช่วยบรรเทาทุกข์ นำทางที่ถูกต้องแก่สรรพชีวิต แต่ก็มิได้หมายความว่า พระทั้งหมดจะสามารถทำได้ และปฏิบัติถึงความหลุดพ้นทุกรูปก็หาไม่ ยังมีพระจำนวนไม่น้อยที่เห็นผิดและประพฤติผิดในศีล ในธรรมวินัย นำพาผู้นับถือไปในทางที่ผิด รวมทั้งภัยคุกคามจากความเชื่อต่างลัทธิ บ่อนทำลายจนไม่มีพระภิกษุหลงเหลือในดินแดนต้นกำเนิดแห่งพุทธศาสนาหลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานพันกว่าปี

การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นสัจธรรมในทุกสรรพสิ่ง ทั้งในด้านดี ไม่ดี ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยเงื่อนไขที่เกี่ยวเนื่องมากมายในเวลานั้น บุคคลใดที่ต้องการให้โลกใบนี้มีแต่ด้านดี มีความสงบสุขอยู่เสมอ เขาเหล่านั้นจะมีความทุกข์ใจอย่างไม่รู้จบ โดยเฉพาะถ้ายิ่งคาดหวัง ต้องการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นตามความเห็นของตน แต่เงื่อนไขปัจจัยภายนอกไม่พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงจะยิ่งเป็นทุกข์มาก แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะนิ่งเฉย ไม่ทำอะไรเลย

สิ่งสำคัญคือ เราสามารถทำหน้าที่ในส่วนของตนให้ดีที่สุด  อย่างมีสติ เป็นปรกติสุขและปล่อยทุกอย่างให้เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย และเมื่อผลออกมาเช่นไร ก็ยอมรับตามนั้น เพราะเราได้ทำหน้าที่ในส่วนของเราดีที่สุดแล้ว บางครั้งอาจมีกรรมร่วมที่อยู่เหนือการกระทำของเราที่ทุกชีวิตต้องรับผลแห่งการกระทำร่วมกัน ซึ่งเมื่อเราเข้าใจถูกต้อง ชัดเจน เราจะไม่ส่งจิตใจของเราไปข้องเกี่ยวกับผลที่เกิดขึ้นเหล่านั้น ความสงบยังคงอยู่กับเรา แม้ภายนอกอาจยังเลวร้ายอยู่ นั่นหมายถึง จิตปลอดภัย แม้กายจะทุกข์ จิตก็ไม่ตกเป็นเหยื่อแห่งโลก และสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ช่วยโลกใบนี้ให้สงบจากภายในได้ดีที่สุด เพราะเราจะไม่แบ่งแยก ตัดสิน เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่จิตใจเราจะเป็นกลางกับทุกสิ่งที่ปรากฎ

ความสงบอยู่ที่ไหน โดย พระพิทยา ฐานิสสโร
ความสงบอยู่ที่ไหน โดย พระพิทยา ฐานิสสโร

ในเวลา ๑ ปี…

ถ้าบุคคลใดสามารถทบทวน ไตร่ตรองเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตทุกวันนับว่าเป็นสิ่งดีที่ควรกระทำอย่างยิ่ง และถ้าสามารถหาเวลาอยู่นิ่งๆ กับตัวเองอย่างสม่ำเสมอทุกวันเพียง ๕-๑๐ นาที หรือ ๓ เดือนครั้ง ใช้เวลา ๓-๔ วัน ฝึกจิตใจวางเรื่องราวภายนอก ด้วยการเฝ้าดู สังเกตสิ่งที่ปรากฏอยู่ภายในจิตใจ จนเห็นเหตุ และการเกิด –ดับ ของมัน และปล่อยทุกอย่างที่เกิดขึ้นอย่างที่เป็นไม่ต้องบังคับ ให้ค่า ตีความ ว่าดีหรือไม่ดี ถูกหรือผิด เป็นเพียงผู้เฝ้าสังเกตอย่างสม่ำเสมอ ถ้าเราสามารถจัดสรรเวลาฝึกจิตใจเราได้เช่นนั้น จิตใจเราจะค่อยๆ สงบโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องหวังความสงบ และผลที่ตามมาเราจะวางใจเป็นกลางกับสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งภายในจิตใจและภายนอกได้มากยิ่งขึ้น เป็นเหตุให้เราจะไม่เหนื่อย ท้อแท้ สิ้นหวังกับความเปลี่ยนไปของทุกสรรพสิ่งทั้งในทางที่ดีและไม่ดีที่มีอยู่ตลอดเวลาคู่กับโลก

           พุทธบริษัท ๔ ที่ประกอบด้วย ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา คือผู้ที่หมั่นศึกษากระทำภาวนาใน ทาน ศีล สมาธิ ปัญญา เราได้ชื่อว่า กำลังตามรอย สืบทอดคำสั่งสอนและแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพระพุทธองค์ เพราะเมื่อได้ฝึกปฏิบัติ เราจะค่อยๆ เข้าใจคำสอนเหล่านั้น โดยไม่จำกัดเวลา แต่เราต้องเพียรกระทำสม่ำเสมอ เมื่อความเข้าใจเกิดขึ้นจากความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย  ความเบาใจ สบายใจที่ไม่ต้องมีภาระห่วงใย ปรากฏอย่างอัตโนมัติ จิตใจที่ฝึกเคารพในทุกสรรพสิ่ง สรรพชีวิตโดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตที่ยังมีความเห็นผิด ไม่เห็นในทุกข์ เปี่ยมด้วยความยึดมั่นถือมั่น จิตใจที่เคารพ ไม่คิดเบียดเบียนเช่นนั้น จะสงบเย็นแม้อยู่ท่ามกลางความรุ่มร้อนแห่งโกรธ โลภ หลง 

ผู้ที่ฝึกดีแล้วย่อมมีความอ่อนน้อมถ่อมตนจากภายใน สำนึกบุญคุณทุกสรรพสิ่ง สรรพชีวิต ในทุกๆ ด้านทั้งด้านดี ไม่ดี เป็นกลาง เพราะทุกอย่างก่อเกิดการเรียนรู้ทั้งสิ้น เมื่อจิตใจเป็นกลางและปล่อยวาง

สังคมโลกใดที่มีคนหลอกให้คนหลงอยู่ในมายาคติ ส่งจิตออกนอก หลงใหล เพลิดเพลินให้ความสำคัญในรูป รส กลิ่น เสียง ธรรมารมณ์ เป็นสังคมที่กำลังหยิบยื่นหายนะให้กับมวลมนุษย์โลก เพราะจิตใจของผู้คนที่อาศัยใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเช่นนั้น จะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ทำ พูด คิดอะไรแบบฉาบฉวย ไม่แยบคาย ขาดการไตร่ตรองใคร่ครวญ นึกอยากทำอะไรก็ทำ ตามแต่ความอยาก ตามความหลงความต้องการ ขาดการยับยั้งชั่งใจ หวั่นไหวอยู่ตลอดเวลา และเมื่อไม่ได้สนองความอยาก ความต้องการ หรือเป็นไปอย่างที่หวัง จะทุกข์ทรมาน เศร้าโศก เสียใจ และไม่สามารถยอมรับ หรือทนสภาวะเช่นนั้นได้ จะทำร้าย ทำลาย ฆ่าได้ทั้งตนเองและผู้อื่น

ความสงบอยู่ที่ไหน โดย พระพิทยา ฐานิสสโร
ความสงบอยู่ที่ไหน โดย พระพิทยา ฐานิสสโร

 ดังนั้น การสร้างสุขลักษณะนิสัยให้อยู่นิ่งๆ ทบทวน ไตร่ตรองใคร่ครวญ พิจารณาการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปและความเกี่ยวข้องสัมพันธ์พึ่งพาแห่งสรรพสิ่ง ให้เวลากับตัวเองอยู่กับลมหายใจแห่งสติ กระทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตประวันให้ช้าลงด้วยความตระหนักรู้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเห็นคุณค่า และสร้างความสุขที่แท้จากการดำรงชีวิต ไม่เช่นนั้นชีวิตจะทุกข์ เหนื่อย ไม่พออย่างไม่รู้จักจบสิ้น เพราะจิตใจไม่เคยได้รับความสงบนั่นเอง

วิ่งหาความสุขจากภายนอก เหนื่อยไม่จบสิ้น

         ไม่หยุด จึงไม่รู้ว่า ทุกอย่างเคลื่อนไหว

         ความสุขที่แท้ เริ่มต้น ที่เห็นจิต

ะหว่างทาง พระพิทยา ฐานิสสโร
ระหว่างทาง พระพิทยา ฐานิสสโร
  1. จิตที่ฝึกดีแล้วย่อมมีความอ่อนน้อมถ่อมตนจากภายใน สำนึกบุญคุณทุกสรรพสิ่ง สรรพชีวิต ในทุกๆ ด้านทั้งด้านดี ไม่ดี เป็นกลาง เพราะทุกอย่างก่อเกิดการเรียนรู้ทั้งสิ้น เมื่อจิตใจเป็นกลางและปล่อยวาง

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here