กว่าจะเป็นหลักสูตรสื่อธรรมให้ถึงโลก

๒. สื่ออย่างไรให้คนคลายทุกข์

โดย พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙, ดร.

พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙, ดร. ผู้เขียน
พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙, ดร. ผู้เขียน

สื่อสารธรรมะอย่างไรให้เข้าถึงคนยุคปัจจุบัน

ต้องถามว่าคนปัจจุบันยังทุกข์อยู่หรือไม่ ถ้ายังมีความทุกข์อยู่ ก็สื่อสารธรรมะเพื่อดับทุกข์ของเขา ปัญหาคือว่า เราเข้าใจความทุกข์ของคนแค่ไหน ถ้าเข้าใจจะรู้ว่า เราก็ไม่ต่างจากหมอ ถ้าหมอจะแนะนำสุขภาพนั้น คนที่เชื่อล้วนแต่เป็นคนเจ็บป่วยทั้งสิ้น แต่สำหรับคนที่ยังไม่ป่วยหรือไม่รู้ว่าตนเองป่วย หรือไม่เคยเห็นญาติตนเองป่วยก็มักจะไม่สนใจ

แต่อย่างไรก็ตาม ยังเป็นหน้าที่ของหมอที่จะสื่อสารออกไป โดยไม่ใช่สื่อด้วยการทำให้กลัว แต่ต้องสื่อให้เห็นคุณค่าของชีวิต สื่อให้เห็นความรักตนเอง รักผู้อื่น เรียกว่า สื่อให้กับคนได้กลับมาเห็นโลกสวยขึ้น เห็นคุณค่าของธรรมะที่จะช่วยมองให้โลกกลับมามีคุณค่าแก่การปกป้องและรักษาอีกครั้ง และไม่ซ้ำเติมให้ทุกอย่างเลวร้ายไปมากกว่าเดิม

หนังสือ “อาศรมบ้านดอกแดง : แสงสว่างแรกแห่งชุมนุมบนดอยสูง” เขียนโดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
หนังสือ “อาศรมบ้านดอกแดง : แสงสว่างแรกแห่งชุมนุมบนดอยสูง”
เขียนโดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท
จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม
และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

ตอนนี้อาตมาได้ทำหนังสือ และหนังสือแต่ละเล่มล้วนแต่เป็นพระที่เขียน แต่เขียนโดยเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในโลกปัจจุบันเข้ากับการมองด้วยธรรมะ ที่สำคัญการจัดหน้าหนังสือต้องทำอย่างประณีต น่าหยิบ น่าอ่าน รูปเล่มสวยงาม เพราะสิ่งที่สำคัญของการสื่อสารคือต้องสร้างความงดงามขึ้น งดงามทั้งด้านการเขียน การจัดรูปแบบ การออกแบบปก ชื่อเรื่อง

เพราะถ้าเราให้ความใส่ใจกับการสื่อสารธรรมะ อย่างน้อยคนที่ยังไม่ได้อ่านเนื้อในก็ยังมีศรัทธาพอที่จะหยิบมาแล้วหยิบอ่านได้ไม่ยาก ยิ่งถ้าพระจะสื่อสารธรรมะแล้วปฏิบัติตนแบบพระอัสสชิที่สงบนิ่งเฉย แต่งดงามก็ไม่แปลกที่บุคคลที่เปี่ยมด้วยปัญญาอย่างอุปติสสะมาณพจะเดินเข้าหาท่านด้วยความชื่นชมในกิริยาเหล่านั้น

กับคำถามที่ว่า ในยุคสังคมออนไลน์ที่ผู้คนใช้โซเชียลมีเดียอย่างแพร่หลาย การเผยแผ่ธรรมะต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง?

ในกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว หากเรากระโดดลงไป ถ้าแข็งแรงพอก็อาจยืนอยู่ได้ แต่ถ้าอ่อนแอก็อาจจะไหลไปตามกระแส การจะเผยแผ่ธรรมะในช่วงที่หลายอย่างรวดเร็วขึ้น จำเป็นต้องอาศัยความชัดเจน

คือชัดเจนด้วยคำพูดที่สื่อออกไป ชัดเจนด้วยความคิด ฉะนั้น ก่อนจะสื่อสาร เราต้องคิดเสมอว่า การสื่อนั้นจะอยู่ต่อไปอีกนาวนาน คิดให้มาก เหมือนกับขวานที่เราให้เวลาลับนานหน่อย แต่สามารถฟันต้นไม้ขาดได้ในเวลาไม่นาน ผิดกับขวานที่ลับไม่นาน แล้วสื่อสารเร็วไป อาจเสียหายและต้องตามแก้ไม่จบไม่สิ้น

แนวโน้มการสื่อสารธรรมะในอนาคตจะเป็นอย่างไร?

ต่อไปผู้คนจะเชื่อว่า “ธรรมะ” อาจไม่ได้สื่อสารผ่านพระเสมอไป หรืออาจไม่เชื่อมั่นในพระว่าเป็นผู้สื่อสารธรรมะอีกแล้ว เพราะโยมจะเชื่อกันว่าพระไม่ได้รู้จักความทุกข์แบบที่โยมรู้จัก เขาจึงเชื่อกันว่า การสื่อสารธรรมะในอนาคตจะเป็นเรื่องของโยมมากขึ้น ทั้งรูปแบบและวิธีการ เพราะการสื่อสารไม่ว่าจะยุคไหนสมัยใด จำเป็นต้องใช้ “ภาษา” ไม่ว่าจะเป็นภาษาพูด ภาษาเขียน ภาษาดิจิทัล ภาษาออนไลน์ ผู้ที่จะสอนได้ต้องรู้ภาษาเป็นอย่างดี หรือเป็นผู้กำหนดภาษา

ฉะนั้น เราจะเรียกคนประเภทเหล่านี้ว่า ผู้เชี่ยวชาญไวยากรณ์ (เวยยากรณะ) ซึ่งก็จะมีคนที่คิดภาษาใหม่ๆ ที่เข้าถึงคนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เหมือนกับนักแต่งเพลง นักแต่งคำประพันธ์ นักเขียน เป็นต้น และอีกกลุ่มหนึ่งอาจเป็นคนที่พูดได้หลายภาษา สามารถแปลงความหมายของธรรมะได้อย่างลึกซึ้งมากกว่าหนึ่งภาษา 

ขณะที่ช่องทางการสื่อสารนั้นจะเป็นไปในรูปแบบของการใช้คำน้อยลง แต่จะเป็นการใช้สัญลักษณ์เยอะขึ้น สังเกตได้จากปัจจุบันเราใช้แต่รูปภาพสติกเกอร์แทนคำพูด ใช้โลโกแทนภาษา ในอนาคตเราอาจไม่ใช้ภาษาอีกแล้ว จะเหลือแต่เพียงภาษากายเท่านั้นที่เราจะส่งต่อกัน ถ้าเราต้องการสื่อสารธรรมะในอนาคตได้ จึงจำเป็นต้องชัดเจนในตัวตนของพระก่อนว่าควรเป็นอย่างไร แล้วการสื่อธรรมะจะชัดเจนไปเอง

เรียนรู้การทำงานของพระมหา ดร.ฐานันดร เขมปญฺโญ แห่งอาศรมบ้านดอกแดง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ที่ปรึกษากลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ วัดสระเกศ จากหนังสือ “อาศรมบ้านดอกแดง : แสงสว่างแรกแห่งชุมนุมบนดอยสูง” เขียนโดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท สอบถามรายละเอียดได้ที่ สถาบันพัฒนาพระวิทยากร ศาลาสันติวัคคีย์ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ  โทร. ๐๘๖ -๗๖๗-๕๔๕๔

(โปรดติดตามตอนจบ ฉบับหน้า)

กว่าจะเป็นหลักสูตรสื่อธรรมให้ถึงโลก (ตอนที่ ๒) สื่ออย่างไรให้คนคลายทุกข์ โดย พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี ป.ธ.๙, ดร. จากคอลัมน์ ท่องเที่ยวโลกกะธรรม (หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ. คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๒ )

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here