จากหนังสือ “อาศรมบ้านดอกแดง : แสงสว่างแรกแห่งชุมชนบนดอยสูง” โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโน

สู่สารคดีสั้น ชุด “ปกาเกอะญอ : นักบุญแห่งขุนเขา” โดย iPONG CH

พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ
พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส จริยธรรมแชนแนล สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ

มองผ่านจอ YouTube : iPONG CH

“ปกาเกอะญอ นักบุญแห่งขุนเขา” ตอนที่ ๓

“บนดอยยังขาดแคลนพระ ครู และโรงเรียน “

โดย พระมหาปฐมพงษ์ ญาณวํโส

จริยธรรมแชนแนล ร่วมกับ สถาบันพัฒนาพระวิทยากร ,สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ วัดสระเกศ และอาศรมพระบัณฑิตอาสา บ้านดอกแดง ตำบลบ่อสลี อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ นำเสนอ …

พระมหาฐานันดร เขมปญฺโญ ดร. ผู้ก่อตั้งอาศรมพระบัณฑิตอาสาพัฒนาชาวเขาบ้านดอกแดง ตำบลบ่อสสี อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่
พระมหาฐานันดร เขมปญฺโญ ดร. ผู้ก่อตั้งอาศรมพระบัณฑิตอาสาพัฒนาชาวเขาบ้านดอกแดง ตำบลบ่อสสี อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

ในสารคดีตอนที่ ๓ เริ่มต้นจากการเล่าเรื่องการเดินทางในวันที่สี่ของการจาริกธรรมลงพื้นที่ของคณะธรรมสัญจร เยี่ยมพระพบปะโยม ส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาบนพื้นที่สูง ณ โรงเรียนบ้านผาแดงเหนือ ซึ่งในบริเวณนั้นมีอยู่ ๓ หมู่บ้าน

พระมหาฐานันดร เขมปญฺโญ ดร. ผู้ก่อตั้งอาศรมพระบัณฑิตอาสาพัฒนาชาวเขาบ้านดอกแดง ตำบลบ่อสสี อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่า ที่มาลงพื้นที่ในโรงเรียนบ้านผาแดงเหนือ เพราะที่นี่ไม่มีงานวันเด็ก ทางโครงการมาก็ได้ถือโอกาสจัดงานวันเด็กเลี้ยง โดยน้ำก๋วยเตี๋ยวมาเลี้ยง แจกผ้าขนหนู รองเท้า ยาหม่อง และเยี่ยมชุมชน

โรงเรียนก็เรียนรวมกัน อย่างหมู่บ้านผาแดงกลาง และผาแดงใต้จะมาเรียนที่ผาแดงเหนือ ระยะการเดินทางก็สี่กิโลเมตร ในบริเวณนั้น

ท่านสะท้อนปัญหาให้ฟังว่า ที่ตรงนั้นบริเวณน้อย ไม่พอที่จะตั้งโรงเรียน ตั้งได้เพียงการศึกษานอกโรงเรียนเท่านั้น ด้วยพื้นที่ที่เป็นลักษณะเช่นนี้ จะไปเรียนกับโรงเรียนใหญ่ก็ไม่ได้ ทั้งจะเรียน ครูก็ไม่พอสอน มันก็ยาก ครูก็เข้าลำบาก

“หน้าฝนไม่ต้องพูดถึง น้ำท่วม เวลาผ่านต้องเลาะห้วยไป ไม่สามารถที่จะเข้าออกได้ แม้แต่พระเอง ที่เข้าไปทำงานตรงนั้น ก็เข้าออกยาก ในพรรษานี้ไม่ต้องติดต่อกันแล้ว ยังขาดแคลนทั้งพระ ทั้งครู และทั้งโรงเรียน

“อาตมาเข้าไปในพื้นที่ ชาวบ้านก็ปรารภว่า ครูไม่มาสอนบ้าง เพราะครูอยู่ไกล เด็กที่เรียนจบจึงไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ นี้เป็นปัญหาที่หนัก ที่สำคัญ เมื่อพระเข้าไปในพื้นที่ ก็ได้ช่วยเสริมบางส่วนที่จะทำได้ ถือว่า เป็นการช่วยเสริมกำลังใจ ไม่ใช่เฉพาะนักเรียนอย่างเดียว คุณครูก็ได้ หลายๆ ท่าน ที่ไม่เคยสัมผัสอาจจะไม่รู้ …”

ติดตามต่อได้ใน https://www.youtube.com/channel/UCgN539G9QLZqWSAivR_Jdvg

และ ติดตาม …

อาศรมบ้านดอกแดง : แสงสว่างแรกแห่งชุมชนบนดอยสูง”

โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโน

จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ วัดสระเกศ

 พระมหาฐานันดร เขมปญฺโญ ดร. ผู้ก่อตั้งอาศรมพระบัณฑิตอาสาพัฒนาชาวเขาบ้านดอกแดง ตำบลบ่อสสี อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่
พระมหาฐานันดร เขมปญฺโญ ดร. ผู้ก่อตั้งอาศรมพระบัณฑิตอาสาพัฒนาชาวเขาบ้านดอกแดง ตำบลบ่อสสี อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

ตอนที่ ๓

ธงธรรมนำชัยจากใต้ขึ้นเหนือ

“ที่นี่มีความลำบากเป็นอย่างมาก แต่ไม่เสี่ยง ที่ภาคใต้ไม่ลำบาก แต่มีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก”

พระอาจารย์ที่เดินทางมาจากจังหวัดนราธิวาส บอกเล่าความรู้สึกกับคณะธรรมสัญจร เยี่ยมพระ พบปะโยม จำนวน ๑๗ รูป/คน ซึ่งประกอบด้วยพระวิทยากรสถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ วัดสระเกศ พระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จิตอาสาสถาบันพัฒนาพระวิทยากร จิตอาสาจริยธรรมแชนแนล จิตอาสามหาวิทยาลัยกรุงเทพ และจิตอาสามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่ได้นำสิ่งของต่าง ๆ เครื่องไทยธรรม ผ้าขนหนู  ยาหม่อง วิทยุ รองเท้า เครื่องเขียน ที่คณะศรัทธาญาติโยมร่วมบริจาคมาทำกิจกรรมส่งมอบให้กับญาติโยม เด็ก ๆ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตลอด ๑๐ วัน

การเดินทางในครั้งนี้ มีพระธรรมทูตอาสาผู้เดินทางไกลที่สุดจากอำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ถึงอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ รวม ๑,๘๖๒ กิโลเมตร พระธรรมทูตอาสาผู้เดินทางใช้เวลายาวนานที่สุดนั่งรถไฟจากหาดใหญ่-กรุงเทพฯ ๑๖ ชั่วโมง แล้วนั่งรถทัวร์ร่วมคณะต่อมาที่จังหวัดเชียงใหม่ ๑๑ ชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางรวม ๒๗ ชั่วโมง และจิตอาสาผู้ที่มีอายุเยอะที่สุด ๘๔ ปี ร่วมเดินทางด้วย เพราะอะไรพระอาจารย์ท่านถึงเดินทางไกลมาถึงที่นี่ และเลือกการเดินทางที่ยาวนานที่สุด

พระปลัดธันวาคม สญฺญโม รองประธานเครือข่ายพระธรรมทูตอาสาจังหวัดสตูล
พระปลัดธันวาคม สญฺญโม รองประธานเครือข่ายพระธรรมทูตอาสาจังหวัดสตูล

พระปลัดธันวาคม สญฺญโม รองประธานเครือข่ายพระธรรมทูตอาสาจังหวัดสตูล เล่าว่า เคยแต่ได้ยินคนอื่นพูดว่า “พระอาจารย์ท่าน  (พระมหา ดร.ฐานันดร เขมปญฺโญ) เรียนจบปริญญาเอกแล้วเลือกที่จะมาทำงานเผยแผ่ตามป่าตามเขา เพื่อตอบแทนบ้านเกิด

“ก็เลยอยากมาดูให้เห็นด้วยตาถึงวิถีการทำงานของท่านว่าเป็นอย่างไร มาเห็นแล้วก็ต้องยอมรับน้ำใจของท่านจริง ๆ ความจริงท่านเลือกที่จะไปเป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัยก็ได้ เลือกที่จะอยู่กรุงเทพฯ วัดที่ท่านเคยอยู่ก็ได้ ท่านก็สามารถที่จะทำประโยชน์ได้เหมือนกัน แต่นี่ท่านเลือกที่จะมาลำบาก เป็นที่พึ่งให้แก่ญาติโยม”

ในขณะเดียวกัน พระครูโสภณปัญญาสาร ประธานเครือข่ายพระธรรมทูตอาสาจังหวัดสตูล บอกว่า “มีความตั้งใจอยากจะมาเชียงใหม่ เกือบสามสิบปีแล้ว สมัยเรียนบาลีที่วัดชัยมงคลจังหวัดสงขลา วันนี้มีโอกาสแล้ว

“เคยได้ยินการทำงานมาราว ๒๐ กว่าปีของท่าน นั่งรถไปตามไหล่เขาต่าง ๆ ก็เลยลองนั่งรถไฟ นั่งรถทัวร์มาให้กำลังใจดูบ้าง พอมาแล้วก็ได้แรงบันดาลใจหลาย ๆ อย่าง เก็บข้อมูลต่าง ๆที่ลงไปในแต่ละพื้นที่ อยากจะส่งเสริมสนับสนุน คิดโครงการหลาย ๆ อย่างไว้ ปีหน้าจะต้องเตรียมการมาช่วยให้ได้ ครั้งนี้ไปตามที่ต่าง ๆ เห็นเด็กนักเรียนมาทำวัตรสวดมนต์ก็มอบทุนการศึกษาทุกที่ เป็นปกติเวลาไปทำงานในพื้นที่ต่าง ๆ ในจังหวัดสตูลก็เหมือนกัน เห็นเด็กเห็นคนลำบากก็มักจะมอบทุนให้กำลังใจตามกำลังศรัทธา ไม่ใช่ว่าพระมีเงินมีทองนะ ไม่มีเหมือนกัน เพราะความรู้สึกตอนเด็ก ๆ จะมีความสุขมากเวลาที่ผู้ใหญ่ หรือใครก็ตามมาเยี่ยม แล้วมอบเงินให้ ๕ บาท ๑๐ บาท ก็เลยอยากจะให้กำลังใจอย่างนั้นบ้าง

ผมรู้จักท่านสมัยที่ท่านลงไปอบรมเครือข่ายพระธรรมทูตอาสา ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงการค่ายพุทธศาสนิกสัมพันธ์ และโครงการค่ายพุทธบุตรท่านก็ลงมาหลายครั้ง พูดถึงระยะทางที่ท่านเดินทางจากเชียงใหม่ลงภาคใต้ก็เท่า ๆ ผมเดินทางขึ้นมา ๑,๘๐๐ กิโลเมตรกว่า ๆ เหมือนกัน”

ท่านยังบอกอีกว่า จากการได้ลงทำกิจกรรมจาริกบุญ จารึกธรรมในพื้นที่การทำงานของพระมหา ดร.ฐานันดร ทำให้เห็นความอดทน ความพยายาม ความตั้งใจในการทำงานเผยแผ่ของท่าน พื้นที่ที่ไปมีความลำบากเป็นอย่างมาก แต่ไม่เสี่ยง ที่ภาคใต้ไม่ลำบาก แต่มีความเสี่ยงเป็นอย่างมาก พูดถึงความลำบาก ในการจาริกไปให้โยมได้มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เป็นการยากเหมือนกันกว่าชาวบ้านจะได้เจอพระ มีความเหมือนและความต่าง ความเหมือนคือ พระหายาก

“ประทับใจวันแรกที่เรามาถึงอาศรมบ้านดอกแดง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ แล้วได้ขึ้นไปสำรวจพื้นที่ ได้ไปที่ยอดดอย ๓๖๐ องศา พระมหา ดร.ฐานันดร ท่านบอกว่า เป็นการขึ้นมาปฐมนิเทศโครงการและชี้เป้าหมายในการลงชุมชน ผมมีความรู้สึกว่า เราได้ขึ้นมาปักธงธรรมนำชัย เพราะว่าการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาเราจะต้องมองเห็น ๓๖๐ องศา การขึ้นดอยมองจากข้างล่างขึ้นไปยอด ทำให้ท้อ แต่ถ้ามองไปที่ก้าวเดินในแต่ละก้าว ๆ ทำให้มีความหวังที่จะไปสู่จุดหมายที่ตั้งไว้ เหมือนการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะที่ภาคเหนือหรือภาคใต้ ก็เหมือนการขึ้นสู่ยอดดอย แม้จะลำบาก เหน็ดเหนื่อยขนาดไหน แต่ถ้าขึ้นไปสู่ยอดดอยได้แล้ว ก็ทำให้มีความหวังที่จะเห็นแสงสว่าง ทำให้พระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งของผู้คน”

พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ ประธานเครือข่ายพระธรรมทูตอาสาจังหวัดนราธิวาส ได้กล่าวบอกเล่าความรู้สึกกับคณะธรรมสัญจร

เช่นเดียวกันกับจิตอาสาผู้ที่มีอายุมากที่สุดบอกเล่าความรู้สึกว่า “มีน้อยคนที่จะได้นั่งรถมาลำบากอย่างนี้ เรามาแค่บางที่ก็สัมผัสได้ถึงความลำบากแล้ว

“พระมหา ดร.ฐานันดร ท่านไม่ได้ทำงานด้วยความรู้สึกของท่านเอง (อันนี้พูดเอาตามความรู้สึกของผมนะ) แต่ท่านทำงานด้วยความศรัทธาในพระพุทธเจ้า บางหมู่บ้านที่ไป เขาไม่รู้จักพระพุทธศาสนา ก็คงไม่ต่างจากสมัยพระพุทธเจ้า การที่พระไปในที่คนไม่รู้จักแล้วขอเขากิน เขาก็เอาอาหารเหลือ เอาน้ำผักกาดให้กิน เพราะเขาไม่รู้จักการทำบุญ พระพุทธเจ้าต้องเอาความประพฤติแลกเอา ความประพฤติก็คือ ศีล ทำให้เขาศรัทธา แล้วสอนเขาให้รู้จักทำบุญ ห้ามความชั่ว ให้ตั้งอยู่ในความดี ทำจิตใจให้สงบ การที่พระมหาฐานันดรจาริกไปตามที่ต่าง ๆ ก็คงจะเป็นเช่นนั้น”

การลงชุมชนติดตามการทำงานของพระมหา ดร.ฐานันดร เขมปญฺโญ ทำให้เห็นปณิธานอันแน่วแน่ในการทำงานเผยแผ่ของท่าน แม้จะผ่านวัน ผ่านเดือน ผ่านปีไปนานเท่าไหร่ ท่านก็ยังจาริกไปทำหน้าที่ตามที่ต่างๆ

ท่านเล่าให้ฟังว่า การทำงานบางครั้งเหนื่อยบ้าง ท้อบ้าง ไม่อยากจะออกไปเหมือนกัน แต่เมื่อนึกถึงญาติโยมที่ไม่มีที่พึ่ง บางครั้งเขานั่งรถมาหาเราที่อาศรม พอไปดูแล้วถนนหนทางลำบากมาก ก็ทำให้มีกำลังใจที่จะทำหน้าที่ต่อไป

โปรดติดตามตอนต่อไป

อาศรมบ้านดอกแดง : แสงสว่างแรกแห่งชุมชนบนดอยสูง” โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโน จัดพิมพ์โดย สถาบันพัฒนาพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ วัดสระเกศ สนใจหนังสือ ติดต่อได้ที่ สถาบันพัฒนาพระวิทยากร โทร. ๐๘๖-๗๖๗-๕๔๕๔

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here