รำลึกความทรงจำ
วิถีพระธรรมทูตจิตอาสาห้าจังหวัดชายแดนใต้
๑. จุดเริ่มต้นชีวิต พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ ณ สำนักสงฆ์โคกโก (วัดรัตนานุภาพ) โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท วัดทองนพคุณ คลองสาน กรุงเทพฯ
ผู้เขียนได้อ่านเรื่องราวของพระครูประโชติรัตนานุรักษ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดรัตนานุภาพ อดีตเจ้าคณะอำเภอสุไหงปาดี และอดีตประธานเครือข่ายพระธรรมทูตอาสาจังหวัดนราธิวาส ซึ่งท่านได้บันทึกเรื่องราวของตัวเองไว้ จึงขอเล่ามาเล่าต่อเพื่อทุกท่านได้ทราบเรื่องราวของท่าน และระลึกถึงคุณงามความดีที่ท่านสร้าง
ก่อนที่จะกล่าวถึงการเริ่มต้นของการใช้ชีวิต ณ สำนักสงฆ์โคกโก ข้าพเจ้าพระปลัดสว่าง จนฺทวํโส ขอเล่าความเป็นมาถึงต้นสายปลายเหตุ แห่งชีวิตสมณะของข้าพเจ้า พอให้ได้ทราบเรื่องราวแบบย่อ ๆ
ข้าพเจ้าเข้าสู่เพศสมณะอุปสมบท เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๕ ณ อุโบสถวัดประชุมชลธารา อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส โดยมีพระครูมงคลคณาบดี เจ้าคณะอำเภอสุไหงปาดีในสมัยนั้น (ปัจจุบันเป็นพระเทพศีลวิสุทธิ์ เจ้าคณะจังหวัดนราธิวาส) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระครูสถิตสีลขันธ์ เจ้าคณะตำบลสุไหงปาดี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการประสพ กิตฺติโก เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังจากถือกำเนิดเป็นสมณะศากยบุตรแล้ว ได้พักพิงอาศัยอยู่วัดประดิษฐ์บุปผา ตำบลสุไหงปาดี อำเภอสุไหงปาดี โดยมีพระอธิการเพชร อติพโล เป็นเจ้าอาวาส ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะเข้าพรรษาแรก จะด้วยกรรมบันดาลหรือเพราะเหตุปัจจัยอะไรก็ไม่ทราบ ต้องเคลื่อนย้ายไปจำพรรษาอยู่ วัดน้ำขาว-ยะกา ตำบลกายูคละ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส
พอเข้าสู่พรรษาที่ ๒ วัดเขาเข็มทอง อำเภอแว้ง พรรษาที่ ๓ วัดลอยประดิษฐ์ อำเภอสุไหงปาดี อยู่กับอาจารย์ พระครูสถิตสีลขันธ์ พรรษาที่ ๔-๕ ศูนย์ปฏิบัติธรรมถ้ำน้ำใส ตำบลคูหา อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา และหลังจากนั้นได้เดินทางกลับมายังวัดที่อุปสมบท คือ วัดประชุมชลธารา ตั้งใจเพื่อมาขอลาสิกขา แต่บุญยังมี เพราะได้ฟังคำพูดของพระอุปัชฌาย์ว่า อยู่ช่วยกันก่อน ผมไม่มีใครแล้ว เพราะช่วงนั้นพระปิลา สิกขาพอดี สุดท้ายจึงตัดสินใจรับใช้พระอุปัชฌาย์เพื่อทดแทนบุญคุณท่าน และรับใช้พระพุทธศาสนาเรื่อยมา
เมื่อกลับมาวัดประชุมชลธาราแล้ว ต้องการอยู่กับอุปัชฌาย์ตามที่ตั้งใจไว้ แต่ด้วยบุญหรือกรรมก็หามิได้ พรรษาที่ ๖ พ.ศ.๒๕๔๐ วัดประดิษฐ์บุปผาขาดพระภิกษุจำพรรษา จึงต้องไปจำพรรษาเป็นเนื้อนาบุญให้ชาวบ้านเหมือนอย่างที่ผ่านมาแต่ละพรรษา เพราะนึกสงสารวัดและชาวบ้านที่เขาต้องการทำบุญ เมื่อออกพรรษาแล้วจึงกลับมายังวัดประชุมชลธาราอีก เพราะต้องการอยู่กับอุปัชฌาย์สักหนึ่งพรรษาตามที่ตั้งใจไว้
ในพรรษาที่ ๗ นี่เองข้าพเจ้าได้เห็นถึงความต้องการของคณะชาวบ้านโคกโก ที่อยากนิมนต์พระภิกษุไปจำพรรษา ณ สำนักสงฆ์โคกโก เพื่อเป็นเนื้อนาบุญของพวกเขา สิ่งที่ข้าพเจ้าเห็นคือ หยดน้ำตาและคำขอร้องจากคนชรา ที่มานิมนต์พระภิกษุไปจำพรรษา และเป็นที่พึ่งให้กับชาวบ้านในช่วงเข้าพรรษา ข้าพเจ้าได้พบกับคณะชาวบ้านโคกโก ๒ ครั้ง คือในช่วงตอนบ่ายมานิมนต์พระไปจำพรรษา และตอนเย็นเวลาประมาณ ๑๘.๐๐ น. ซึ่งตอนนั้น ข้าพเจ้าไม่รู้จักหรอกว่าคณะชาวบ้านนั้นเป็นคนหมู่บ้านใด เพราะข้าพเจ้าเพิ่งกลับมาอยู่ในเขตอำเภอสุไหงปาดี ไม่รู้จักใคร ในตอนบ่ายวันนั้นที่ชาวบ้านไปนิมนต์พระเพื่อมาอยู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์โคกโก พระภิกษุบางรูปต่างพากันหนีกลับบ้าน กลัวถูกนิมนต์มาจำพรรษาที่สำนักสงฆ์บ้านโคกโก คณะชาวบ้านเลยแห้วไปตามเคย กลับไปพร้อมความเศร้าและคราบน้ำตา พอมาถึงช่วงตอนเย็นคณะชาวบ้านโคกโกกลับมายังวัดประชุมฯ อีกครั้ง มีความเพียรมาก
ทีนี้แหละได้เรื่องข้าพเจ้าได้ยินเสียงระฆังดังขึ้น จึงจัดแจงนุ่งสบงทรงจีวรมาทำวัตรสวดมนต์ นึกว่าระฆังทำวัตรเย็น แต่ไม่ใช่เป็นสัญญาณระฆังทำวัตร แต่เป็นสัญญาณเรียกพระมาประชุม เพื่อคัดหาพระภิกษุไปจำพรรษายังสำนักสงฆ์โคกโก และวัดโบราณสถิตย์
ข้าพเจ้าจำได้ว่า พระสมใจ กิตฺติสาโร (ปัจจุบันเป็นพระครูบริหารสุทธิวัตร) เสนอให้เอาพระที่มีพรรษามากๆ ไป ซึ่งในขณะนั้นมีอยู่ ๓ รูป (พระสังเวียน ,พระเล่ง และข้าพเจ้า) แต่ไม่มีใครไป พระสมใจจึงเสนอให้จับฉลาก ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกรำคาญ ด้วยความสงสารญาติโยม และมีพระอรรถพร กิตฺติโก อยู่รูปเดียวเป็นกำลังอยู่แล้ว จึงได้ประกาศขอไม่จับฉลาก เพราะต้องการอยู่กับอุปัชฌาย์สักหนึ่งพรรษาตามที่ได้ตั้งใจไว้ และได้ประกาศในระหว่างที่ประชุมนั้นว่า “ถ้าหากไม่มีใครไป…! ผมไปเอง แต่ผมไม่จับฉลาก” เป็นอันตกลงว่าไม่มีใครจับฉลาก ทำให้ในปีนั้นต้องออกมาจากวัดประชุม ฯ อีกครั้ง
ญาติโยมชาวบ้านโคกโกรับข้าพเจ้ามาอยู่จำพรรษา ที่สำนักสงฆ์โคกโก ในปี พ.ศ.๒๕๔๑ ซึ่งข้าพเจ้านำพระภิกษุมาจากวัดประชุมชลธารา ๓ รูป ซึ่งมีอยู่ที่สำนักอยู่แล้ว ๒ รูป จึงทำให้มีพระจำพรรษาครบ ๕ รูป ในปีแรกของการจำพรรษา ณ สำนักสงฆ์บ้านโคกโก ถือเป็นรุ่นที่ ๒ ของสำนักสงฆ์ฯ ข้าพเจ้าคิดว่า หลังจากจำพรรษาเสร็จแล้วก็จะกลับไปยังวัดประชุมฯ ต่อ
แต่ด้วยความสงสารญาติโยมที่มีความศรัทธา และตั้งใจที่สร้างวัดขึ้นให้ได้ จึงจำเป็นต้องอยู่ต่อ เพื่อสร้างความหวังของญาติโยมให้เป็นจริง แม้บ้างครั้งจะต้องเจอกับอุปสรรคในการสร้างวัด เช่น บางคนก็ไม่ให้ความร่วมมือ บางคนขัดขวาง บางคนดูถูกว่าไม่เป็นวัด สร้างวัดไม่ขึ้น สารพัด ฯลฯ แต่ทั้งหมดก็ไม่สามารถที่จะขัดขวางความเพียร ความพยายาม ความสามัคคีของผู้ศรัทธา คณะญาติโยมที่มีความตั้งใจไปได้ แม้บางคนจะล่วงลับดับชีวิตไปก่อนที่จะได้เห็นประกาศการตั้ง “วัดรัตนานุภาพ” แต่ดวงวิญญาณของผู้ศรัทธาเหล่านั้นคงรับรู้อนุโมทนาบุญในครั้งนี้
วัดรัตนานุภาพ ตำบลโต๊ะเด็ง อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส เดิมชื่อ สำนักสงฆ์บ้านโคกโก เพราะตั้งอยู่ ณ บ้านโคกโก หมู่ที่ ๒ ตำบลโต๊ะเด็ง อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส มีพื้นที่อยู่ติดกับโรงเรียนบ้านโคกโก และเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน ตามเจตนาของชาวบ้านเพื่อจะสร้างวัด แต่เนื่องจากที่ดินที่จะสร้างให้เป็นวัดนั้น ไม่พอตามหลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ เนื่องจากพื้นที่วัดแบ่งไปตั้งเป็นสถานศึกษา นั่นคือโรงเรียนบ้านโคกโกเสียส่วนหนึ่ง คณะชาวบ้านบ้านโคกโก โดยการนำของพระปลัดสงัด ปญฺญาวโร ซึ่งในสมัยนั้น ท่านเป็นเจ้าสำนักฯ และโดยความเห็นชอบของ พระเดชพระคุณพระอรรถโมลี เจ้าคณะจังหวัดนราธิวาส สมณะศักดิ์ในสมัยนั้น ได้ทอดผ้าป่าเพื่อหาเงินซื้อที่ดินเพื่อตั้งเป็นวัด และได้จัดซื้อที่ ในราคา แปลงละ ๒๐๐,๐๐๐ บาท เป็นพื้นที่จำนวน ๙ ไร่ ๓ งาน ๘๔ ตารางวา
. สภาพพื้นดินที่ทำการซื้อนั้นเป็นผืนนาร้างและเป็นดินลอย ตั้งติดอยู่กับเส้นทางระหว่างบ้านโคกโก บ้านไอยือราและบ้านโต๊ะเด็ง เมื่อทำการซื้อแล้วพระปลัดสงัด ปญฺญาวโร ได้ดำเนินการปรับพื้นที่เป็นคูระบายน้ำให้น้ำแห้งเพื่อตั้งเสนาสนะให้พออยู่ได้ ประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ พระปลัดสงัด ปญฺญาวโร และคณะชาวบ้านได้ทำการรื้อถอนกุฎิเสนาสนะบางส่วนจากที่สำนักสงฆ์เดิม มาตั้งยังสำนักสงฆ์ใหม่ สภาพสำนักสงฆ์ (วัดรัตนานุภาพ) เดิมนั้นเป็นทุ่งนาโล่งแจ้งไม่มีต้นไม้ เป็นป่าหญ้าปล้องและป่ากก เมื่อพระปลัดสงัด ปญฺญาวโร ได้ยกเสนาสนะจากที่เดิมมาตั้งยังสำนักใหม่ วิธีการรื้อถอนเสนาสนะของคณะชาวบ้านนั้น ใช้วิธีรื้อแต่ส่วนหลังคาและฝาของเสนาสนะ สำหรับโครงร่างของเสนาสนะนั้น คณะชาวบ้านได้ช่วยกันยกหามมาประกอบยังที่ตั้งใหม่
หลังจากตั้งสำนักสงฆ์ใหม่ในที่แห่งนี้ พระปลัดสงัด ปญฺญาวโร และคณะชาวบ้านโคกโกได้ทำการพัฒนาสถานที่แห่งใหม่ มีการสร้างห้องน้ำ สร้างหอฉัน เป็นอาคารไม้โดยใช้ต้นหลาโอนทำเป็นเสาขุดบ่อ ขุดลอกคูสาธารณะด้านหลังสำนักสงฆ์ ถมดินหน้าสำนักสงฆ์เพื่อใช้เป็นที่จัดงานบุญต่างๆ เพราะที่ตั้งเสนาสนะนั้น เมื่อถึงเวลาฝนตกก็จะเกิดน้ำท่วมขัง เป็นอุปสรรคอย่างมากในการบำเพ็ญกุศลของคณะชาวบ้าน จากเหตุนี้เองจึงต้องถมดินด้านหน้าวัด
ในไตรมาสแรกของการจำพรรษา ณ สำนักสงฆ์บ้านโคกโก ในที่สถานที่แห่งใหม่ ปีแรกมีพระภิกษุจำพรรษาจำนวน ๕ รูป หลังจากออกพรรษาเข้าสู่ปี พ.ศ.๒๕๔๑ พระปลัดสงัด ปญฺญาวโร ได้ลาสิกขา ทำให้สำนักสงฆ์แห่งนี้ว่างจากเจ้าสำนัก (ผู้นำ) แต่ในขณะนั้นยังมีพระอรรถพร กิตฺติโก ซึ่งเป็นพระภิกษุคนในพื้นที่บ้านโคกโกอยู่รูปเดียว และเมื่อเข้าสู่ช่วงเข้าพรรษาในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ คณะพุทธศาสนิกชนต่างขวนขวายหาพระภิกษุเพื่อมาอยู่จำพรรษาให้ครบองค์กฐิน
พ.ศ. ๒๕๔๑ ปีที่ ๒ ของสำนักสงฆ์ คณะพุทธศาสนิกชนชาวบ้านโคกโก โดยการนำของนายกมล จุลเทพ ได้นิมนต์พระภิกษุจากวัดประชุมชลธารา ซึ่งข้าพเจ้าพร้อมกับพระภิกษุ ๓ รูป รวมกับพระภิกษุในสำนักสงฆ์โคกโก ๒ รูป ก็ครบ ๕ รูป สำนักสงฆ์บ้านโคกโก ก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๐ และได้ยกขึ้นเป็นวัดโดยมีชื่อว่า “วัดรัตนานุภาพ” เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ บริเวณวัดมีพื้นที่รวมทั้งสิ้น ๑๒ ไร่
นับแต่นั้นมาพระครูประโชติรัตนานุรักษ์ จึงได้จำพรรษาอยู่ที่นี่มาตลอด จนกระทั่งมรณภาพเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๒
จากคอลัมน์ จาริกบ้าน จารึกธรรม (หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๒) โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท วัดทองนพคุณ คลองสาน กรุงเทพฯ