” หลังจากใส่บาตรแล้วไม่กรวดน้ำ บุญจะถึงไหม? “

ตอบปัญหาธรรม

โดย…พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี (เหมประไพ) ป.ธ.๙,ดร.

 ถาม หลังจากใส่บาตรแล้วไม่กรวดน้ำ บุญจะถึงไหม?

ตอบ    ประวัติการกรวดน้ำนั้นมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เมื่อพระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์เมืองราชคฤห์ได้ถวายทานแก่พระพุทธเจ้าและหมู่สาวก พระองค์มัวแต่หมั่นพระทัยว่า “พระพุทธองค์จะทรงประทับอยู่ที่ไหน?” จึงไม่ได้อุทิศผลบุญนั้นแก่ใครๆ ทำให้ตอนกลางดึก  มีเสียงแปลกประหลาดเกิดขึ้นในพระราชนิเวศน์ พระราชาทรงหวาดกลัว พอสว่างก็รีบไปเฝ้าพระพุทธเจ้า  พอได้ฟังวินิจฉัยของพระพุทธองค์  พระราชาจึงทรงรู้ว่า ตนเองทำทานแต่ลืมอุทิศส่วนบุญให้หมู่ญาติที่เกิดเป็นเปรต ทำให้เกิดเหตุอย่างนั้น  พระเจ้าพิมพิสารจึงถวายภัตตาหารและเสื้อผ้าและเครื่องปูลาดและที่นอน เป็นต้นอีกครั้ง แล้วอุทิศถวายว่า “อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตโย” แปลว่า “ขอทานนี้จงมีแก่พวกญาติของเรา ขอทานนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลาย ขอญาติทั้งหลายจงเป็นผู้ถึงความสุขเถิด” หลังจากนั้นพระพุทธองค์ทรงอนุโมทนาปรากฎเนื้อหาในติโรกุฑฑสูตร โดยมีใจความย่อๆ ว่า

“เมื่อเปรตมาสู่เรือนของตน ยืนอยู่ภายนอกฝาเรือน ทาง ๔ แพร่ง ทาง๓ แพร่ง และใกล้บานประตู  ฝ่ายญาติของเปรตเหล่านั้นก็ตั้งข้าว น้ำ ของเคี้ยวและของบริโภคเป็นอันมากไว้ แต่เปรตเหล่านั้นไม่สามารถรู้ได้ เพราะผลกรรม  จึงเป็นเรื่องที่เหล่าญาติที่ต้องการอนุเคราะห์เปรตเหล่านั้นควรจะให้ทานแล้วอุทิศเจตนาให้ว่า ขอทานนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลาย ขอญาติทั้งหลายจงเป็นผู้ถึงความสุขเถิด  ฝ่ายญาติผู้ละโลกนี้ไปแล้วเหล่านั้นพอได้รับบุญก็อนุโมทนาโดยเคารพว่า เราทั้งหลายได้สมบัติเช่นนี้ เพราะเหตุแห่งญาติเหล่าใด ขอญาติเหล่านั้นของพวกเราจงมีอายุยืนยาวนาน และบูชาอันทายกทั้งหลายทำแล้วแก่เราทั้งหลาย และทายกทั้งหลายย่อมไม่ไร้ผล ในเปรตวิสัยนั้น ไม่มีการประกอบอาชีพต่างๆ  ไม่มีการซื้อการขาย ผู้ทำกาลกิริยาละไปแล้ว ย่อมยังอัตภาพให้เป็นไปในเปรตวิสัยนั้น ด้วยทานทั้งหลายที่ญาติให้แล้วแต่มนุษยโลกนี้”

จากประวัติการกรวดน้ำนี้ เราจะพบข้อวินิจฉัยปัญหาข้างต้นว่า

๑. การถวายทานต้องกรวดน้ำเพื่ออุทิศ ไม่เช่นนั้นญาติที่ล่วงลับไปแล้วจะไม่รู้ เพราะกำลังรับผลกรรมอยู่  และเมื่อญาติที่ล่วงลับไป  ไม่รู้ก็ไม่สามารถรับส่วนบุญได้

๒. ในกรณีที่ลืมหรือไม่รู้ว่าต้องอุทิศ แต่มาจำได้หรือรู้ภายหลังแล้วอยากกรวดน้ำ  เราอาจทำทานใหม่อีกครั้งแล้วตั้งเจตนาอุทิศให้อีกที แต่บางทีหลายคนบอกว่าทำแล้วค่อยไปแผ่ส่วนบุญให้ทีหลังก็ได้ แต่ปัญหาคือว่า ธรรมชาติของจิตนั้นขึ้นๆ ลงๆ เมื่อเจอปัญหาหลายเรื่อง อาจทำให้จิตที่เป็นกุศลจากการทำทานนั้นลดน้อยถอยลงจนไม่เหลือบุญให้อุทิศ  หรืออาจจะลืมเสียก่อน ฉะนั้น ให้ดีที่สุดคือทำแล้วอุทิศให้ทันทีขณะที่จิตยังเป็นกุศลหลังจากทำบุญใหม่ๆ จะดีที่สุด

๓. ผู้ล่วงลับไปแล้วอาศัยเพียงบุญที่คนอุทิศให้เท่านั้น  และเมื่อได้บุญแล้วเขาก็จะปกปักษ์รักษามนุษย์ ซึ่งเนื้อหาตรงนี้ช่วยอธิบายคำอธิบายเพิ่มเติมที่ปรากฎในคำอธิบายเพิ่มเติมของติโรกุฑฑสูตรว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงติโรกุฑฑสูตรไว้เพื่อไม่ให้บุคคลประมาทในการทำความดี และช่วยรักษาอันตรายที่มนุษย์ถูกพวกหมู่ภูตเหล่าใดเหล่าหนึ่งเบียดเบียน ฉะนั้น การทำบุญอุทิศจึงเหมือนกับให้ผู้ล่วงลับเหล่านั้นรักษาไม่ให้เกิดเหตุเภทภัยอย่างที่เคยเกิดภัยต่างๆ ในเมืองไพศาลีในสมัยพุทธกาล คือทุพภิกขภัย คือข้าวยากหมากแพง อมนุษยภัย คือภัยจากพวกอมนุษย์ และพยาธิภัย คือ ภัยที่เกิดจากโรคระบาด

๔. ที่สำคัญการทำบุญนั้น ผู้ทำบุญไม่ไร้ผลบุญ และถ้าอุทิศให้กับผู้ล่วงลับไปแล้วก็จะได้ยิ่งเพิ่มบุญกุศลนั้นให้มากยิ่งขึ้น เหมือนการต่อเทียน เทียนเล่มแรกไม่ได้ลดแสงลงแม้แต่น้อย แต่จะยิ่งเพิ่มแสงให้มากขึ้น

พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี

ตอบปัญหาธรรม

” หลังจากใส่บาตรแล้วไม่กรวดน้ำ บุญจะถึงไหม? ”

โดย…พระมหาขวัญชัย กิตฺติเมธี (เหมประไพ) ป.ธ.๙,ดร.

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here