พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ที่ข้าพเจ้ารู้จัก ๔  "พระนักสันติวิธีผู้สืบทอดอุดมคติพระธรรมทายาท" จากคอลัมน์ จาริกบ้าน จารึกธรรม (หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก  วันพฤหัสบดีที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๒)  โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท  วัดทองนพคุณ คลองสาน กรุงเทพฯ
พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ที่ข้าพเจ้ารู้จัก ๔ “พระนักสันติวิธีผู้สืบทอดอุดมคติพระธรรมทายาท”
จากคอลัมน์ จาริกบ้าน จารึกธรรม (หน้าพระไตรสรณคมน์ นสพ.คมชัดลึก วันพฤหัสบดีที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๒)
โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท วัดทองนพคุณ คลองสาน กรุงเทพฯ

จาริกบ้านจารึกธรรม 

พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ที่ข้าพเจ้ารู้จัก (๔)

พระนักสันติวิธี ผู้สืบทอดอุดมคติพระธรรมทายาท 

โดย

พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท 

วัดทองนพคุณ คลองสาน กรุงเทพฯ

       ผู้เขียนได้พูดคุยกับกลุ่มเพื่อนพระครูประโชติรัตนานุรักษ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดรัตนานุภาพ อดีตเจ้าคณะอำเภอสุไหงปาดี และอดีตประธานเครือข่ายพระธรรมทูตอาสาจังหวัดนราธิวาส ที่เคยทำงานร่วมกันในหลากหลายบทบาท ซึ่งตัวแทนของกลุ่มเพื่อนได้เล่าให้ฟังว่า

รู้จักพระครูประโชติฯ เมื่อครั้งท่านทำงานค่ายพุทธบุตร ในฐานะพระธรรมทายาท ถึงแม้ตัวของอาจารย์พระครูประโชติฯ เองจะไม่ได้ผ่านการอบรมหลักสูตรพระธรรมทายาท แต่พูดถึงการทำงาน ความเสียสละ ความทุ่มเท ในความเป็นพุทธบุตรที่ทำงานตลอด ท่านมีคุณสมบัติครบในความเป็นพระธรรมทายาท ด้ายการสั่งสมบารมีของท่าน ความมุ่งมั่น ส่วนหนึ่งก็อาจจะอยู่ในท่ามกลางสิ่งแวดล้อมของเพื่อนกัลยาณมิตรเหล่าพระธรรมทายาท ทำให้การหล่อหลอมความเป็นพระธรรมทายาทซึมซับอยู่ในวิธีคิด วิธีการทำงาน ตามแนวทางอุดมคติและหลักการทำงานของพระธรรมทายาทที่ว่า

“ชำระจิตให้สะอาด สร้างอาวาสให้รื่นรม พัฒนาสังคมให้สงบ เคารพพระรัตนตรัย” นั่นคืออุดมคติของพระธรรมทายาท ซึ่งเป็นงานภายในและงานภายนอกที่ต้องทำควบคู่กันไป

พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ที่ข้าพเจ้ารู้จัก (๔) โดย  พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท
พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ที่ข้าพเจ้ารู้จัก (๔) โดย พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท

ส่วนหลักของการทำงานของพระธรรมทายาทนั้นมี ๑๐ ข้อ ขอยกมาเพื่อเป็นแนวทางในการทำงานของอนุชนคนรุ่นหลัง ผู้หวังจะสร้างอุดมการณ์พระนักเผยแผ่ พระนักพัฒนา เพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาต่อไป คือ

  ๑.อ่อนน้อมถ่อมตน ๒.ประสานมิตรผูกไมตรี ๓.สติมั่นคงไม่หวั่นไหว ๔.ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดี ๕.ทำงานด้วยความรอบคอบ ๖.กิจกรรมกลุ่มแนบแน่น ๗.มุ่งมั่นประกาศธรรม ๘.อยู่อย่างต่ำ กระทำอย่างสูง ๙.ทำหน้าที่โดยไม่หวัง ไม่เอา ไม่เป็น (ทำงานแล้วไม่หวัง เพื่อประโยชน์ของตนเอง ไม่เอามาเป็นประโยชน์ของตนเอง ไม่เป็น ไม่อยากเป็นโน่น ไม่อยากเป็นนี่) ๑๐.ยกประโยชน์ให้พระธรรม

เมื่อกล่าวถึงอุดมคติและหลักการทำงานของพระธรรมทายาทแล้วชัดเจนในตัว การทำงานของพระครูประโชติฯก็เช่นเดียวกัน

       ชำระจิตให้สะอาด ท่านไม่เคยขาดทำทุกวัน ในความเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาทำความดี ละความชั่ว ทำจิตให้ผ่องใสเป็นกิจที่ต้องทำ กิจวัตรประจำวัน เรื่องทำวัตรเช้า-เย็น เจริญจิตตภาวนาก็ไม่เคยขาด ท่านทำจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต

       สร้างอาวาสให้รื่นรม หญ้าทุกกอ ไม้ทุกต้น ทรายทุกเม็ด อิฐทุกก้อนภายในวัด ล้วนเกิดขึ้นจากแรงศรัทธาของความรักความปรารถนาดีที่อยากให้อาวาสที่อยู่อาศัยเป็นที่สัปปายะเหมาะแก่การปฏิบัติศาสนกิจของพระสงฆ์ เหมาะแก่การปฏิบัติธรรมของญาติโยม

พัฒนาสังคมให้สงบ ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า เราต้องมีความชัดเจนในเรื่องของกติกาชุมชน เราต้องมีจุดยืน ถ้าไม่งั้นไปไม่รอด ผมพูดกับโยมตั้งแต่วันแรกที่ชาวบ้านมานิมนต์ไปสร้างวัด ถ้าเราต้องการสร้างวัด วัดจะต้องเป็นวัด วัดจะต้องไม่มีการพนัน ไม่มีการดื่มสุรา ไม่มีอบายมุขทุกชนิด วัดต้องเป็นสถานที่เจริญสติและปัญญา เป็นข้อตกลงระหว่างวัดกับชุมชน ถ้าวิธีคิดของเราชัด แนวทางของเราชัด วิธีปฏิบัติของเราก็จะชัดไปด้วย

       เคารพพระรัตนตรัย ท่านพูดเสมอว่า ชีวิตนี้อุทิศพระพุทธศาสนา พระรัตนตรัยคือสิ่งที่เคารพสูงสุด ที่พึ่งอื่นนอกจากพระรัตนตรัยไม่มี ท่านย้ำเสมอว่า ผมจะไม่มีวันทรยศต่อพระพุทธเจ้า

หลายคนพูดถึงท่านในฐานะผู้นำจิตวิญญาณ พระนักสันติวิธี พระนักพัฒนา ผู้มีใจเด็ดเดี่ยว ถ้าพูดไปแล้วท่านมีชีวิตมาเพื่อที่จะเป็นอย่างนั้น จะเหมือนใครก็ไม่ได้ จะให้ใครเหมือนก็ไม่ได้ ผมพูดได้เลยว่า ตอนนี้ผมอายุ ๕๐ ปี ถ้าผมมีอายุยืนยาวไปอีก ๕๐ ปี ก็หาไม่ได้พระที่จะเป็นอย่างพระครูประโชติฯ พระที่จะเป็นเหมือนพี่ท่านหว่าง

ในความเป็นผู้นำจิตวิญญาณ ท่านมุ่งเน้นปฏิบัติตามแนวคำสอน เน้นข้อปฏิบัติ สอนให้ผลเกิดขึ้นจากการปฏิบัติ ไม่นิยมอภินิหาร เครื่องรางของขลัง ท่านชัดเจนในแนวทาง ท่านเลือกที่จะทำแนวทางนี้ ท่านทำของท่าน เริ่มจากวัด ทำวัดให้เป็นที่เจริญสติและปัญญา ค่อยๆขยายไปสู่ใจของคนในชุมชน ขยายไปสู่ระดับอำเภอ จังหวัด ใครที่มาหาท่าน มีแต่รอยยิ้ม มีแต่กำลังใจ มีแต่ธรรมะที่เป็นหลักในการดำเนินชีวิต อิ่มใจ สุขใจทุกครั้งเมื่อนึกถึง

ในความเป็นพระนักสันติวิธี โดยบุคลิกโดยส่วนตัวของท่าน คำพูดก็ไม่เคยระรานใคร ไม่เคยเบียดเบียนใคร ท่านถือปฏิบัติตามหลักโอวาทปาติโมกข์ อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา โอวาทตอนหนึ่งในข้อวิธีการ คือการไม่ว่าร้าย ได้แก่ ไม่กล่าวให้ร้ายหรือกล่าวโจมตีใคร การไม่ทำร้าย ได้แก่ การไม่เบียดเบียนผู้อื่น ทั้งทางกาย วาจา ใจ โดยบุคคลิกของท่านตั้งแต่สมัยที่ท่านทำค่ายพุทธบุตร ท่านยังไม่ได้ทำอะไร แค่เดินไปยิ้มให้เด็ก เด็กก็รับรู้ได้แล้วว่า พระอาจารย์รูปนี้ไม่ดุ ใจดี ตลอดชีวิตของท่าน ทุกคนที่อยู่ใกล้ท่าน สัมผัสรับรู้ได้ ไม่มีอาการอะไรที่ทำให้รู้สึกระแวงกลัว ท่านไม่เคยแสดงออกถึงความแข็งกระด้างต่อทุกฝ่าย

บางครั้งดูเหมือนท่านแข็ง ความจริงท่านมีจุดยืนของท่าน แต่ท่านก็ไม่ได้ใช้จุดยืนของท่านอย่างเดียว ท่านฟังทุกฝ่าย ประณีประนอม วิธีการนุ่มนวล ถ้าท่านแข็งท่านไม่สามารถที่จะไปร่วมได้กับทุกเวที ท่านคือผู้ทำหน้าที่สมานสามัคคีในสังคมพหุวัฒนธรรม ที่ทุกคนแสวงหาความเป็นอยู่ที่ร่วมกันได้ ท่านเชื่อมั่นตลอดว่า สันติสุขในชายแดนใต้จะเกิดขึ้นได้ ต้องเจรจาพูดคุย ทุกอย่างจบลงด้วยการเจรจา สันติสุขในใจใคร เริ่มต้นได้ที่ใจเรา ไม่นิยมความรุนแรง ท่านทำมาตลอดชีวิต แต่สุดท้ายแล้วท่านกับโดนเอง เรียกได้ว่าเป็นฆาตกรรมสันติภาพ

ในความเป็นพระนักพัฒนา ผู้มีใจเด็ดเดี่ยว เมื่อนึกถึงท่านพระครูประโชติฯหรือพี่ท่านหว่างแล้ว ทำให้นึกถึงพระรูปหนึ่งในสมัยพระพุทธเจ้า ชื่อว่าพระปุณณะ ปรากฏในพระสุตตันตปิฎก ปุณโณวาทสูตร ความตอนหนึ่งว่า พระปุณณะจะไปปฏิบัติศาสนกิจปรารภความเพียรที่บ้านสุนาปรันตะชนบท ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีแต่คนดุร้าย ไม่เป็นมิตรกับผู้มาเยือน มีการทำร้ายฆ่าฟันกันตายเกิดขึ้นบ่อย ๆ

เมื่อพระปุณณะไปกราบลาพระพุทธเจ้าแล้ว พระองค์ทรงให้โอวาทในเรื่องอินทรียสังวรแล้วทรงถามว่า “ปุณณะ เธอจะไปบำเพ็ญเพียรที่ชนบทแห่งไหน ?”

“เกล้ากระผม จะไปสุนาปรันตะชนบท ขอรับ”

“ปุณณะ ชาวสุนาปรันตะชนบท ดุร้ายหยาบช้านัก ถ้าเขาด่าเธอ แล้วเธอจะทำอย่างไร ?” “ถ้าเขาด่าข้าพระองค์ จะทำในใจว่า ยังดีที่เขาไม่ลงไม้ลงมือตบตี พระเจ้าข้า”

“ถ้าเขาตบตีด้วยมือเล่า ?”

“ถ้าเขาตีด้วยฝ่ามือก็ยังดี ที่เขาไม่ขว้างด้วยก้อนดิน พระเจ้าข้า”

“ถ้าเขาขว้างด้วยก้อนดินละ ปุณณะ ?”

“ถ้าเขาขว้างด้วยก้อนดิน ก็ดีกว่าเขาตีด้วยท่อนไม้ พระเจ้าข้า”

“ถ้าเขาตีด้วยท่อนไม้ละ ปุณณะ?”

“ถ้าเขาตีด้วยท่อนไม้ ก็ดีกว่าเขาใช้ศาสตราวุธอันคม ทำร้าย พระเจ้าข้า”

“ถ้าเขาใช้ศาสตราวุธอันคม ทำร้ายเล่า ปุณณะ ?”

“เมื่อเขามาฆ่าเราเอง ก็ดีกว่าเราไปใช้ให้เขาฆ่า หรือฆ่าตัวตาย พระเจ้าข้า ?”

“ดีล่ะ ปุณณะ เธอใช้ความอดทนและความสงบเสงี่ยม มองภัยของชีวิตในแง่ดี ถ้าอย่างนี้เธอจะอยู่กับชาวสุนาปรันตะได้แน่ๆ”

การที่พระปุณณะกล่าวอย่างนี้ ตัวของของท่านเองเป็นพระอรหันต์ ท่านย่อมไม่กลัวในเรื่องภัยของความตาย แต่การที่ท่านพระครูประโชติฯ ทั้งๆ ที่รู้ว่ามีคนคอยปองร้ายเอาชีวิต เพราะท่านเคยหนีรอดจากการปองร้ายเอาชีวิตในวัดถึงสองครั้ง แต่ท่านก็ไม่ได้แสดงความหวาดกลัว หรือบอกกล่าวขอความช่วยเหลือจากใคร ไม่ได้แสดงความกลัวให้ใครได้เห็น ท่านก็ได้แต่ใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท จากการบอกเล่าของพระลูกศิษย์ว่า หลายปีแล้วเวลาที่ท่านจำวัด ท่านจะไม่จำวัดที่ห้องประจำของท่าน ท่านจะย้ายที่จำวัดไปเรื่อย ที่โบสถ์บ้าง ที่ศาลาโรงฉันบ้าง ที่กุฏิหลังสวนบ้าง หมุนเวียนกันไป แต่สุดท้ายท่านก็ไม่รอด

ในนามของกลุ่มเพื่อนพระครูประโชติฯ เพื่อเป็นการระลึกถึงความดีของท่าน เพื่อจะได้ให้ทุกคนไม่ลืมท่าน ทุกวันพระก็ได้รวมตัวกัน ทำวัตรสวดมนต์เจริญจิตตภาวนา สวดพระอภิธรรมอุทิศถวายท่าน และน้อมนำคำสอนของท่านมาประพฤติปฏิบัติ

พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท ผู้เขียน

จาริกบ้านจารึกธรรม 

พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ที่ข้าพเจ้ารู้จัก (๔)

พระนักสันติวิธี ผู้สืบทอดอุดมคติพระธรรมทายาท 

โดย

พระมหาอภิชาติ ธมฺมาภินนฺโท 

วัดทองนพคุณ คลองสาน กรุงเทพฯ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here