การทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องง่าย เช่นเดียวกับการทำความดีทุกอย่าง ย่อมมีอุปสรรคเป็นธรรมดา หากเราติดอยู่กับคำสรรเสริญและนินทา ย่อมทำให้เราหยุดอยู่กับที่ หรือถอยหลัง ไม่อาจทำอะไรได้ แต่ถ้าหากเรานำมาเป็นพลังใจในการก้าวต่อไปอย่างไม่ลดละ นอกจากจิตจะได้ฝึกการละวางตัวตนแล้ว งานช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นย่อมยิ่งทำให้จิตเบิกบานและเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังที่จะทำความดีต่อไปไม่สิ้นสุด
เรียนรู้การทำงานเชิงลึกของพระธรรมทูตจิตอาสา กับการก่อกำเนิดพระสงฆ์กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม…เพื่อเติมเต็มในส่วนที่ขาดไปของสังคม …นั่นคือ อะไรบ้าง ติดตามตัวอักษรเดินทางไปพร้อมกับการภาวนาของ พระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม ก่อนที่ท่านจะเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจในต่างแดน…
จาริกธรรมสกอตแลนด์ (Scotland) ตอนที่ ๑
“การทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนากับกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม”
ในอีกไม่กี่วันนี้ครูบาอาจารย์ได้ส่งให้อาตมาไปปฏิบัติศาสนกิจเป็นพระธรรมทูต ณ ประเทศ Scotland เป็นเวลา ๒ ปี เพื่อทำหน้าที่การทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา แต่ก่อนที่อาตมาจะได้เดินทางไปจาริกธรรม อยากจะเล่าถึงเหตุแห่งการได้ไป เพราะอยู่ ๆ แล้วได้ไปก็คงเป็นไปไม่ได้ ทุกอย่างล้วนมีเหตุปัจจัยเกี่ยวข้องกันทั้งสิ้น จึงขอท้าวถึงความหลังของจุดเริ่มต้นการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาอันเป็นต้นเหตุให้อาตมาได้เดินทางไปจาริกธรรม ณ Scotland ในครั้งนี้
คนเราเมื่อบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาแล้ว ต้องหมั่นศึกษาให้ครบองค์ประกอบที่สำคัญทั้ง ๓ ประการ ได้แก่ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เพื่อเป็นเครื่องมือ หรือเข็มทิศนำทางไปสู่การงดเว้นจากความชั่ว บาป หรืออกุศลทั้งปวง อันจะนำไปสู่การพัฒนาตนเองถึงขั้นสูงสุดคือพระนิพาน นอกจากศึกษาธรรมะเพื่อพัฒนาตนเองแล้วยังมีกิจของสงฆ์ และงานของคณะสงฆ์อีกด้วย
ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๑๕ ตรี (๑) และ (๓) และข้อ ๕ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๓ (พ.ศ.๒๕๔๑) ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ กล่าวถึงงานของคณะสงฆ์ มี ๖ ด้านด้วยกัน คือ ๑) การรักษาความเรียบร้อยดีงาม ๒) การศาสนศึกษา ๓) การศึกษาสงเคราะห์ ๔) การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ๕) การสาธารณูปการ และ ๖) การสาธารณสงเคราะห์
และในปัจจุบันนี้เป็นความโชคดีของคณะสงฆ์ไทยที่งานทั้ง ๖ ด้านดังกล่าวได้รับงบอุดหนุนจากรัฐผ่านมาทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งในทางปฏิบัติและถือว่าเป็นจารีตประเพณีที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตคือ กรมการศาสนา จนมาถึงปัจจุบันสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ถ้าคณะสงฆ์ หรือวัดใดได้รับงบอุดหนุน แล้วนำไปใช้จ่ายตามความเหมาะสมในงานทั้ง ๖ ด้านนั้นไม่ว่าด้านใดด้านหนึ่งประกอบกับเจตนาที่สุจริตก็ถือว่าชอบโดยกฎหมายแล้ว
สำหรับอาตมานั้นเมื่อบวชเข้ามาตั้งแต่เป็นสามเณรจนถึงเป็นพระภิกษุในปัจจุบัน นอกจากจะมีโอกาสได้ศึกษาความรู้ทางธรรมควบคู่กับความรู้ทางโลกเพื่อพัฒนาตนเองแล้ว ส่วนมากชีวิตจะได้มีโอกาสอยู่กับแต่ครูบาอาจารย์ที่ท่านทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา เช่น สอนหนังสือวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียน เทศน์แหล่อีสาน และจัดค่ายอบรมคุณธรรม จริยธรรมสำหรับเยาวชนหรือประชาชนทั่วไป ชีวิตจึงได้รับอิทธิพลจากครูบาอาจารย์ชีวิตจึงได้สอนหนังสือ เทศน์ ตั้งแต่เป็นสามเณรเป็นต้นมา
จุดเปลี่ยนของชีวิตที่ได้มาทำงานเผยแผ่อย่างจริงจังคือได้รู้จักครูบาอาจารย์ในกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม และได้เริ่มมาฝึกตนเองในการเป็นวิทยากรอบรมคุณธรรม จริยธรรม นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นต้นมา
ซึ่งหลายคนอาจจะสงสัยว่ากลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม เป็นใคร มาจากไหน ?
กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มพระสงฆ์ที่ทำงานจิตอาสางานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๓ จนถึงปัจจุบัน อบรมคุณธรรม จริยธรรมให้แก่เยาวชน นักศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดถึงประชาชนทั่วไป เน้นหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา และผสมผสานแนวคิดทางด้านการจัดการอารมณ์ตามแบบจิตวิทยา ใช้กระบวนการกลุ่ม หรืออบรมโดยใช้กระบวนการในการนำกิจกรรมเป็นสำคัญ
สิ่งที่อาตมาประทับใจที่สุดกับการทำงานในกลุ่มเพื่อชีวิตดีงามนั้นก็คือ บรรยากาศของการทำงานในกลุ่ม เราอยู่กันอย่างพี่ น้อง บรรยากาศแห่งความเคารพรัก ที่แสดงออกทางคำพูดและการกระทำ ล้วนแล้วแต่เป็นการเติมเต็มสิ่งที่ขาดหาย ชี้จุดด้อยสงวนจุดต่างสร้างกำลังใจให้แก่กันเสมอ มีบรรยากาศแห่งการทำงานเป็นกลุ่มเป็นทีม กล่าวคือ แบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบอย่างชัดเจนตามความถนัดและความสามารถ พูดคุยปรึกษาหารือกันแบบวันต่อวัน ช่วยกันชี้ปัญหาแก้ปัญหา ทุกคนสามารถเสนอแนะแนวทางที่ดีกว่าได้ตลอด เพราะว่าในการงานทำแต่ละครั้งนั้น ย่อมมีปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ
การช่วยดูเป็นหูเป็นตาให้แก่กันและกันถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการทำงานร่วมกัน บรรยากาศแห่งการให้โอกาสซึ่งกันและกันคือความงดงามอย่างหนึ่งปรากฏให้เห็น ไม่มีคำว่าศึกษาดูงาน มีแต่ให้ลงมือทำและศึกษาเรียนรู้ไปด้วย ทำงานกับกลุ่มเพื่อชีวิตดีงามไม่มีคำว่าเหงา พวกเราจะไปเป็นหมู่คณะเท่าที่ไปได้ให้มากที่สุด เพราะมีแนวคิดที่ว่าจับมือประสานใจ ก้าวไปพร้อมกัน ผูกพันฉันพี่น้อง มุ่งมองเพื่อความสงบและความสุขของทุกๆ คน
อนึ่ง อาตมานั้นได้เข้ามาทำงานเผยแผ่ในนามกลุ่มเพื่อชีวิตดีงามในปี พ.ศ.๒๕๕๐ เป็นรุ่นที่ ๓ (ซึ่งปัจจุบันนี้น่าจะรุ่น ๖ รุ่น ๗ แล้ว) มีโอกาสได้เห็นรุ่นพี่ รุ่นครูบาอาจารย์ และได้ร่วมทำงานกับครูบาอาจารย์รุ่นก่อตั้งกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม ได้เห็นความเสียสละของครูบาอาจารย์ในการทำงานเผยแผ่เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะได้ฟังเรื่องเล่าจากครูบาอาจารย์หลายท่านเกี่ยวกับการทำงานในยุคแรก ๆ ว่า…
“กลุ่มเรานั้นเกิดจากความเสียสละและมีจิตอาสา ยุคแรก ๆ ของการทำงานจนถึงตอนนี้ (ปีพ.ศ. ๒๕๕๐) เราทำงานโดยไม่ได้รับงบอุดหนุนจากไหนเลย ใจล้วน ๆ เอาใจเป็นที่ตั้งและก็ช่วยกันออกคนละร้อยสองร้อย เป็นค่าพาหนะ ค่าอุปกรณ์ทำกิจกรรม ค่าซื้อของสำหรับแจกเด็กที่มีส่วนร่วมกิจกรรม ความสุขของเราคือการได้เห็นรอยยิ้มของเด็ก ๆ ที่เข้าอบรม”
จากคำกล่าวของครูบาอาจารย์รุ่นก่อตั้งกลุ่มนั้นทำให้เห็นว่าท่านเสียสละเวลา เสียสละทรัพย์ เสียสละกำลังกาย เป็นการทำงานจิตอาสาเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ซึ่งช่วงที่อาตมาได้เข้ามาเริ่มทำงานกับกลุ่มเพื่อชีวิตดีงามในช่วงแรกก็สามารถสัมผัสถึงสิ่งที่ท่านได้กล่าวไว้ได้อย่างลึกซึ้ง เพราะอาตมาเองช่วงนั้นก็มีโอกาสได้เดินทางออกไปทำงานในต่างจังหวัดกับครูบาอาจารย์บ่อยครั้ง ก็ต้องแชร์ค่าพาหนะ ค่าซื้ออุปกรณ์กิจกรรม ฯ เป็นประจำ
ทั้งนี้ ในปีพ.ศ. ๒๕๕๑ ถือว่าเป็นความโชคดีของงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาคณะสงฆ์ไทยเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และอดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้ลงนามมีคำสั่งตั้งสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ มีสำนักงานกลางตั้งอยู่ ณ วัดสระกศ และมีศูนย์สาขาอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อดำเนินการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในทุก ๆ ด้าน
ในเวลาต่อมา มหาเถรสมาคม มีมติเห็นชอบให้สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ฯ เป็นหน่วยงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกของคณะสงฆ์ไทย เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) มรภาพ อุดมการณ์ก็ได้ถูกสานต่อและต่อยอดโดยพระเดชพระคุณพระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโข) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ซึ่งในช่วงแรกของการก่อตั้งงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงาน และทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นปัจจัยส่วนตัวของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ทั้งหมด หลังจากนั้นถึงมีงบประมาณจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมาอุดหนุนเพียงแต่บางส่วนเท่านั้น
เมื่อมีสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ฯ เกิดขึ้น และได้เห็นกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม ทำงานจิตอาสาเผยแผ่พระพุทธศาสนามาแต่เดิมแล้ว จึงได้เชิญให้กลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม เข้ามาทำงานภายใต้สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ฯ พร้อมส่งเสริม และสนับสนุนในการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา กลุ่มเพื่อชีวิตดีงามจึงมีพลังในการขับเคลื่อนงานเผยแผ่พระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น
นอกจากจะอบรมนักเรียน นักศึกษาที่ทำมาเป็นประจำ ก็มีอีกหลาย ๆ โครงการเกิดขึ้น เช่น ค่าย DEAR Camp (อบรมนักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศ), โครงการอบรมวิทยากรกระบวนการพัฒนากระบวนธรรม (คัดเลือกพระสงฆ์จากทั่วประเทศเพื่อฝึกการเป็นพระวิทยากร), โครงการธรรมะเยียวยาใจ ผู้ประสบภัยน้ำท่วม ปี พ.ศ.๒๕๕๔ (ลงพื้นที่มอบสิ่งของเยียวยากาย และจัดกิจกรรมกระบวนการเยียวยาใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม, โครงการอบรมพระวิทยากรกระบวนธรรม (คัดเลือกพระสงฆ์จากทั่วประเทศเพื่อฝึกการเป็นพระวิทยากร โดยภาคทฤษฎีฝึกที่ไทย ภาคปฏิบัติไปฝึกที่อินเดีย) ฯ ที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงบางส่วนการทำงานเผยแผ่ของกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม ที่ได้รับการสนับสนุจากสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ฯ เท่านั้น ซึ่งอาตมาเองก็มีโอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในครั้งนี้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม นอกจากลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม ยังมีกลุ่มใต้ร่มพุทธธรรม ที่ทำงานจิตอาสาเผยแผ่พระพุทธศาสนามาแต่เดิมแล้ว เมื่อสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ เกิดขึ้น จึงได้รับการสนับสนุนและทำงานภายใต้สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ฯ ทั้งสองกลุ่มได้ขับเคลื่อนงานเผยแผ่ร่วมกันจนได้ขยายเคลือข่ายพระวิทยากรออกไปทั่วทุกจังหวัดในประเทศ อันนำมาสู่การก่อตั้งโครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาพระวิทยากร ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ฯ ซึ่งอาตมาจะได้เล่ารายละเอียดต่าง ๆ ในตอนต่อไป
และขอทิ้งท้ายด้วยคำกล่าวของพระครูสิริวิหารการ อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร, อดีตประธานที่ปรึกษากลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม, อดีตประธานพระวิทยากร สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ฯ ซึ่งท่านเคยกล่าวกับอาตมาว่า…
“คนเรามุ่งแสวงหา เกียรติยศ ชื่อเสียง เงินทอง
ก็เพื่อเติมเต็มในส่วนที่ขาดหายของตนเองเท่านั้น
แต่ถ้าใช้ลมหายใจของเราที่เหลืออยู่ไปช่วยเติมเต็ม
ในส่วนที่ขาดหายของคนอื่น ให้เขามีรอยยิ้ม มีความสุข
ให้เขาพ้นทุกข์ และให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวม
สิ่งนี้จึงจะเรียกว่าเป็นการเติมเต็มในส่วนที่ขาดหายของเราได้สมบูรณ์ที่สุด”
จาริกธรรมสกอตแลนด์ (Scotland) ตอนที่ ๑
“การทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนากับกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม”
โดย พระใบฏีกาคทาวุธ คเวสกธมฺโม
“สิ่งที่อาตมาประทับใจที่สุดกับการทำงานในกลุ่มเพื่อชีวิตดีงามนั้นก็คือ บรรยากาศของการทำงานในกลุ่ม เราอยู่กันอย่างพี่ น้อง บรรยากาศแห่งความเคารพรัก ที่แสดงออกทางคำพูดและการกระทำ ล้วนแล้วแต่เป็นการเติมเต็มสิ่งที่ขาดหาย ชี้จุดด้อยสงวนจุดต่างสร้างกำลังใจให้แก่กันเสมอ มีบรรยากาศแห่งการทำงานเป็นกลุ่มเป็นทีม “