ก้าวไปสู่อนาคตด้วยพลังแห่งปัญญาของชุมชน

โดย  พระมหาประสิทธิ์  ญาณปฺปทีโป

“ทุกปัญหาผ่านพ้นเมื่อชุมชนเกิดปัญญาสาธารณะ

เคยได้แลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาชุมชนกับสาขาการจัดการชุมชนของราชภัฏแห่งหนึ่ง  สรุปกันว่า ปัญญา คือ ทางออกของปัญหาในการพัฒนาชุมชน

ปัญญาคือแสงสว่างในโลก  ที่ช่วยส่องทางให้กับคนทุกคนได้ดำเนินชีวิตไปในทางที่เหมาะสม และมีความสุข  พัฒนาชีวิตตนเองได้เต็มศักยภาพ  แต่ว่าปัญญา ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เป็นสิ่งที่เราจะต้องบ่มเพาะ  สร้างมันขึ้นมาให้มีในตัวเอง

บางคนบอกว่า  ปัญญาคือต้องมีปริญญา  ซึ่งจริงๆ หากดูสถิติการลงทะเบียนคนจน  จะเห็นได้ว่า  คนจบปริญญาตรีโทเอก ก็มีไปลงทะเบียนกันเยอะเหมือนกัน  ฉะนั้นแล้ว  ปัญญามิอาจจะวัดด้วยปริญญาเพียงอย่างเดียว  เราไม่มีปริญญาจึงไม่ควรคิดว่าตนเองไม่มีปัญญา  และแม้จะไม่มีค่าเรียน  เราก็สามารถที่จะสร้างปัญญาหาความรู้ให้กับตนเองได้

“ความรู้มีอยู่ทั่วไป”  เป็นคำที่เคยได้ยินมาตั้งแต่เด็ก แต่มายุคนี้ เขาพูดกันถึง  “ปัญญาสาธารณะ” หมายถึงแหล่งเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อคนทั่วไป  เข้าถึงได้  เข้าถึงง่ายและประหยัด  ซึ่งมีอยู่แล้วในชุมชนของเราเอง   ผู้เขียนขอสรุปไว้ดังนี้

ปัญญาสาธารณะด้านสถานที่  เช่น

ห้องสมุดชุมชน หรือที่อ่านหนังสือหมู่บ้าน   ควรจะมีและได้รับการส่งเสริมให้เกิดกระบวนการใช้งานอย่างต่อเนื่อง  ไม่ใช่ปล่อยไว้ให้เป็นที่มั่วสุม  เพราะห้องสมุดสร้างได้ง่าย  แต่นิสัยรักการอ่านทำได้ยาก  แต่ก็ทำได้ถ้าชุมชนร่วมใจกัน

วัดหรือแหล่งเรียนรู้อาชีพ  เช่น  มีศูนย์เรียนรู้การทำปุ๋ย  จักสาน  งานเย็บปัก    งานฝีมือหรือทำอาหารและขนม  ซึ่งเคยเห็นเทศบาลและ  อบต.ทำอยู่เหมือนกัน  แต่มันก็เป็นไปตามงบประมาณ  หมดงบก็หมดงาน  ซึ่งจริง ๆ  ในแต่ละชุมชนมีคนที่ทำอยู่แล้วเพียงแต่ทำให้เขาเหล่านั้นมีศักยภาพในการถ่ายทอด  หรือนำมาเชิดชูให้ดูเป็นแบบอย่างที่ดีของคนที่ทำงานจนประสบความสำเร็จ  สร้างแรงจูงใจให้กับคนอื่นๆ  ได้ด้วย  และจะมีคนเข้าไปขอเรียนรู้ดูงานเองรวมถึงพิพิธภัณฑ์ขุมชนก็ควรสร้างหรือรักษาไว้หากมีแหล่งสำคัญภายในชุมชนที่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์และเรื่องราวในอดีตที่เป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจในตัวตนของตนเองสำหรับเยาวชนรุ่นหลังเพื่อไม่ให้ลืมรากเหง้าตนเอง

ลานกีฬาหรือแหล่งเรียนรู้กลางแจ้ง   เช่น  สวนสาธารณะ  เวทีกลางแจ้งไว้จัดกิจกรรมในช่วงสำคัญ ๆ แหล่งเรียนรู้เหล่านี้ก็อยู่ที่การขับเคลื่อนให้เกิดการใช้บริการและเกิดกิจกรรมที่น่าสนใจอยู่อย่างต่อเนื่อง  ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะเห็นหลายเทศบาลและอบต.ทุ่มงบสร้างกันมหาศาล แต่ผ่านไปไม่นานสนิมขึ้นเต็มเลย  หญ้ารกอีกต่างหาก  อันนี้ก็จะต้องปรับปรุง  มีสนามแต่ไม่มีคนสอนก็ยากที่จะเกิดนักกีฬาเก่งๆ ได้

Chengwei Liu เขียนบทความลง เว็บไซด์ BBC มีประเด็นหนึ่งน่าสนใจมาก  เธอบอกว่า ต่อให้เด็กซ้อมเป็นหมื่นชั่วโมงก็ไม่อาจจะสร้างนักกีฬาทีมชาติได้ถ้าขาดโค้ชคอยแนะนำ

ฉะนั้น  นอกจากจะมีสนามที่ดีแล้ว  อบต.อาจจะต้องลงทุนจ้างครูกีฬาเพิ่มอีกสักหน่อย  ไม่แน่กีฬา อบต. อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของนักกีฬาทีมชาติในอนาคตได้

ปัญญาสาธารณะด้านบุคคล  หมายถึงคนที่มีความรู้หรือประสบการณ์ที่สามารถถ่ายทอดให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนหรือคนอื่นได้

พระสงฆ์  หลายรูปในชุมชนกลายเป็นหลวงตาเฝ้าวัดเฉย ๆ ทั้ง ๆ ที่ท่านก็มีความรู้และประสบการณ์มากมาย  อีกทั้งยังขาดโอกาสที่จะใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์ได้  คนส่วนใหญ่ก็นิมนต์ท่านไปสวดและก็เสก  เสร็จแล้วก็นิมนต์ท่านกลับวัด  ครั้งจะสอนหน่อยก็ไม่ใคร่จะมีใครฟัง จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง

ปราชญ์ชาวบ้าน หรือข้าราชการเกษียณ   คนกลุ่มนี้มีความรู้และประสบการณ์การทำงานที่เห็นผลจริง  บางคนประสบความสำเร็จในชีวิตมีความสุข  องค์ความรู้ต่าง ๆ เหล่านี้จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน  กระบวนการในการนำคนเหล่านี้มาเชิดชู และถ่ายทอดความรู้ให้ผู้อื่นควรจะมี

         ครู  บุคลากรของโรงเรียน  ถ้ามีครูผู้มีความรู้และอยู่ในชุมชนปกติแล้ว  มาช่วยขับเคลื่อนงาน  ก็จะเป็นประโยชน์มาก  แต่ก็น่าเสียดายที่ส่วนใหญ่มักจะเป็นครูเฉพาะตอนอยู่โรงเรียน   และถ้าครูในชุมชนจะเปิดสอนพิเศษวันเสาร์อาทิตย์  ผู้เขียนก็เห็นด้วย  อย่างน้อยก็เป็นตัวเลือกให้กับผู้ปกครองที่อยากจะให้ลูกเรียนเพิ่มเติมหรือดีกว่าหมกตัวอยู่แต่ในร้านเกม  หรือค่าเรียนถูกกว่าในเมืองอีกทั้งยังใกล้บ้าน  ถือว่าเป็นเรื่องน่าส่งเสริม  บางอย่างเป็นทักษะติดตัวเด็กไปจนโตได้เช่น  ดนตรี  ภาษา  ศิลปะ   คณิตคิดเลข คอมพิวเตอร์ ฯลฯ

         ใคร ๆ  ก็เป็นผู้ให้ปัญญาได้ พระพุทธเจ้าบอกว่า  การให้ธรรมะเป็นทานชนะการให้ทั้งปวง  ดังนั้นแล้วการที่เราได้ให้คำแนะนำหรือชี้ทางดีมีกำลังใจให้กับคนอื่น   ถือว่าเป็นบุญที่ยิ่งใหญ่  ฉะนั้นแล้วใครๆ  ก็สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ร่วมกันได้   (learning community)  

สุดท้ายคือปัญญาสาธารณะออนไลน์  หมายถึง เว็บไซด์  เว็บบล็อกต่างๆ  เป็นแหล่งข้อมูลการเรียนรู้ที่ดี  เราสามารถที่จะสรรหาเรื่องที่เราอยากรู้ได้แทบจะทุกเรื่อง  ฉะนั้น  การเรียนรู้ที่จะใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญ  ไม่ใช่แชททั้งวัน   หรือทำอะไรที่ไร้ประโยชน์และเสียเวลาเปล่า  หลายอาชีพที่สามารถทำได้ในอินเทอร์เน็ตหรือเพิ่มยอดขายขยายเครือข่ายได้ด้วยสื่อออนไลน์ต่าง  ๆ  เป็นเรื่องดีมากที่รัฐบาลได้มีนโยบายเน็ตประชารัฐ  ทำให้ประชาชนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้อย่างทั่วถึงในราคาถูก  แต่สิ่งสำคัญที่ละเลยไม่ได้ก็คือการให้ความรู้ด้านการใช้เน็ตให้เป็นประโยชน์ และการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์  เพื่อให้เกิดประโยชน์ตามนโยบายได้อย่างสูงสุด  มีคำกล่าวว่า  “มีคนเดินมา ๓  คน  ๒ ใน ๓  คนนั้นอาจจะเป็นครูเราได้”  ความรู้ไม่ใช่สิ่งที่หนักหนารู้ไว้ประดับปัญญา  และอาจจะได้ใช้ประโยชน์ในวันข้างหน้าได้อีกด้วย  แหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่รอบตัวเราก็เช่นเดียวกัน หมั่นฝึกตนและเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง  เป็นการสะสมปัญญาความสามารถในการคิดแก้ไขปัญหาได้

ปัญหาสาธารณะจึงต้องปะทะกับปัญญาสาธารณะ

ไทย ๔.๐  คือ ไทยที่ก้าวไปสู่อนาคตด้วยพลังแห่งปัญญาของชุมชน.

 ก้าวไปสู่อนาคตด้วยพลังแห่งปัญญาของชุมชน. : พระมหาประสิทธิ์  ญาณปฺปทีโป
ก้าวไปสู่อนาคตด้วยพลังแห่งปัญญาของชุมชน. : พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here