จิตใจที่มีศีล คือ มีอริยทรัพย์ : พระพิทยา ฐานิสสโร

0
1277

สามเณรวัย ๓๐ ปี ชาวสาธารณรัฐเชค บรรพชาตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว หลังจากฝึกเป็นพ่อขาวอยู่ ๑ ปีที่วัดอมราวดี ในประเทศอังกฤษ ปัจจุบันมาจำพรรษาฤดูหนาวเป็นเวลา ๓ เดือนอยู่ที่วัดธรรมปาละ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ท่านต้องทำหน้าที่ดูแลงานทั่วไปภายในวัด แยกขยะ นำขยะไปทิ้งอาทิตย์ละ ๒ ครั้ง คอยอุปัฏฐากพระผู้ใหญ่ ท่านพยายามฝึกฝนอย่างเต็มกำลัง ในเวลาเกือบ ๒ ปีที่ได้ปฏิบัติภาวนาที่วัด สุดท้ายท่านตัดสินใจลาสิกขาในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

ท่านซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตัวท่านเอง ที่สำคัญท่านไม่อยากละเมิดในสิกขาบทที่รับมา เพราะรู้สึกว่าท่านยังไม่พร้อมที่จะเป็นสามเณรต่อเพื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุในอีกไม่ช้า ท่านยังอยากใช้ชีวิตแบบฆราวาสที่สามารถทำอะไรได้มากขึ้น ไม่มีข้อกำหนด กฎบังคับมาก แต่มีโอกาสปฏิบัติภาวนาสม่ำเสมอ

จิตใจที่มีศีล คือมีอริยทรัพย์ : พระพิทยา ฐานิสสโร

การไม่ได้เป็นสามเณรหรือไม่ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุมิได้หมายความว่า เราล้มเหลวในชีวิต แต่การที่ฝืน ไม่เคารพ ไม่ปฏิบัติตามธรรมวินัย หรือไม่รู้เกี่ยวกับธรรมวินัยขณะเป็นสามเณรหรือภิกษุเป็นสิ่งที่ล้มเหลวยิ่งกว่า ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเมื่อบวชเป็นภิกษุ สามเณรแล้วจะสามารถปฏิบัติได้สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็หามิได้ ตราบใดที่ยังมิได้บรรลุอรหันต์ ท่านทั้งหลายเหล่านั้นมีหลายครั้งที่ยังคงละเมิดในสิกขาบทที่รับมาเพื่อฝึกฝนตน แต่เมื่อใดที่ละเมิด ท่านเหล่านั้นจะซื่อสัตย์ กล้าหาญ ที่เปิดเผยความผิดนั้นต่อเพื่อนสหธรรมิกทุกๆ ๒ สัปดาห์ในวันทบทวนปาฏิโมกข์ เพื่อเป็นการย้ำเตือน ตระหนักรู้สิ่งที่กระทำ พูด คิด ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านไป ซึ่งถ้ายังกระทำผิดอยู่ จะได้เพิ่มความตระหนักรู้ พยายามตั้งใจปฏิบัติภาวนา ฝึกสติสัมปชัญญะมากขึ้น และไม่กระทำผิดอีก

สำหรับในส่วนที่กระทำได้ดีอยู่แล้วแล้วก็จะพยายามพัฒนาจิตให้สูงยิ่งขึ้นไป การได้อยู่บวชเรียนปฏิบัติเช่นนี้ ยิ่งสร้างความเจริญ เข้าใจ ยอมรับความจริง ก่อให้เกิดจิตใจที่สงบมากขึ้นแก่ผู้กระทำนั้น

           บุคคลที่สมมติว่าเป็นชาวพุทธมากมายที่มีความเข้าใจผิด คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ คนส่วนมากคิดว่าเมื่อลูกชายได้บวชเป็นพระ พ่อแม่จะได้บุญ โดยมิได้เน้นย้ำ ให้ความสำคัญถึงจุดมุ่งหมายของการบวชอย่างแท้จริงเฉกเช่นในอดีตที่บรรพบุรุษได้ปฏิบัติเป็นแบบอย่าง ด้วยการกินอยู่อย่างเรียบง่าย เพื่อยกระดับจิตใจให้สูง ฝึกเพียรปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา รักษาพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด

การทำสมาธิภาวนาเป็นหน้าที่หลักของพระภิกษุที่พึงศึกษาปฏิบัติ เพื่อสร้างคนหนึ่งคนให้เปลี่ยนเป็นจิตใจใหม่ที่เคารพ เข้าใจ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นเหมือนก่อนบวชหรือเรียกว่า เป็นคนสุก

แต่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเรื่องเวลาที่จำกัดของการบวช ความรู้ความเข้าใจ จุดมุ่งหมายของการบวชที่คลาดเคลื่อนไปทั้งของบรรพชิตและฆราวาส  ทำให้ประโยชน์ที่ได้รับจากการบวชจึงมีน้อยมาก ส่งผลให้คนส่วนใหญ่เมื่อมีการจัดงานบวชครั้งหนึ่งมุ่งเน้นไปที่วงดนตรีงานเลี้ยง งานแห่นาค ทั้งที่อาจส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น บางงานอาจมีการฆ่าสัตว์เพื่อนำมาประกอบอาหารเลี้ยงคนที่มาร่วมงาน ที่เป็นโทษมากกว่านั้น อาจมีการเล่นการพนัน อบายมุข เสพสิ่งมึนเมาเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน โดยที่ไม่ได้ตระหนักรู้ว่า เราร่วมกันทำบาปในงานที่สมมติว่าเป็นงานบุญ ซึ่งถ้าไม่จัดงานเช่นนั้นเราก็กลัวโดคำครหานินทา  ตำหนิ เพราะคนจำนวนไม่น้อยที่จัดงานกันเช่นนั้น  ทั้งที่เป็นค่านิยมที่ผิดๆ แต่เราก็ทำตาม เพราะเราไม่เข้มแข็ง ชัดเจนพอที่จะทำให้แตกต่างอย่างเรียบง่าย ไม่มัวเมา เพลิดเพลินและเบียดเบียนทั้งตัวเองและผู้อื่น

จิตใจที่มีศีล คือ มีอริยทรัพย์ : พระพิทยา ฐานิสสโร

คนในแถบประเทศตะวันตกที่ไม่ได้เป็นชาวพุทธดั้งเดิม แต่ตั้งใจสนใจศึกษาเรื่องพุทธศาสนาเพื่อเข้าถึงแก่นแท้แห่งคำสอน ทำให้เขามุ่งเน้นในเรื่องการปฏิบัติแห่งศีล ภาวนาเป็นหลัก แต่ค่อยๆ เรียนรู้เรื่องทานภายหลังจากการที่ได้ฝึกฝน ปฏิบัติภาวนาเพื่อละความเป็นตัวตน ของตน ต่างจากชาวพุทธทางตะวันออกที่ส่วนใหญ่มุ่งเน้นในเรื่องทาน ส่วนเรื่องศีล ภาวนาให้ความสำคัญรองลงไป เน้นในพิธีกรรมแต่ขาดความเข้าใจแท้จริงในพิธีกรรมและไม่ได้ประยุกต์พิธีกรรมเพื่อน้อมจิตสู่ความสงบ แต่เน้นที่ความสนุกสนาน รื่นเริง ส่งผลให้เป็นการยากที่ชาวตะวันตกจะเข้าใจถึงจุดมุ่งหมายของประเพณี วัฒนธรรมของคนที่ได้สมมติตัวเองว่าเป็นพุทธทางแถบประเทศตะวันออกที่ประพฤติ กระทำด้วยความไม่เข้าใจ ไม่สมเหตุสมผล มีเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้มาเกี่ยวข้องมากมาย และมีหลายพิธีกรรมที่ไม่สอดคล้องกับคำสอนแห่งความเรียบง่าย เพื่อน้อมนำจิตสู่ความสงบ ไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น

ในส่วนดีก็มีส่วนเสีย ในส่วนเสียก็มีส่วนดี แทบทุกเรื่อง ถ้ามองเป็น ก็จะไม่ทุกข์กับทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด  ขึ้นอยู่กับความเห็น การมอง การนำมาปรับใช้ให้เข้าสถานการณ์ แต่ที่สำคัญเราต้องเข้าใจจุดมุ่งหมาย เข้าใจในหน้าที่ที่กระทำแห่งการสมมติทั้งหลายเหล่านั้น เพื่อเราจะได้เข้าถึงในสิ่งที่สมมตินั้นอย่างถูกต้องและได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งถ้าเรายังไม่พร้อมที่จะเป็นอะไร หรือทำอะไรในสิ่งสมมตินั้น เราจะได้ชัดเจน ซื่อสัตย์ เคารพ ยอมรับกำลัง ความสามารถของเราในขณะนั้น ไม่ฝืนกระทำเพราะผลประโยชน์แอบแฝงแห่งอยาก ความหลง ความไม่เข้าใจที่ถูกต้อง เมื่อชัดเจน เคารพตนเองส่งผลให้เราจะชัดเจน ซื่อสัตย์ เคารพ ยอมรับผู้อื่นได้เช่นกัน

การได้การกลับมามองตนเอง สำรวจตนเองอยู่เสมอไม่ว่าเวลาใดทั้งส่วนดี ส่วนไม่ดี ส่วนที่ต้องแก้ไขปรับปรุง เวลานั้นจะเป็นช่วงเวลาที่มีค่าต่อตนเองเสมอและยังคงติดตัวเราไป จนกว่าจะปฏิบัติให้ถึงที่สุดแห่งการปล่อยวาง

           ศีลเป็นทรัพย์ที่มีค่าสูงสุดที่มนุษย์พึงมี

           เมื่อใดขาดศีล เมื่อนั้น ยากจน

           จิตใจไม่เคยพอในคน ไร้ศีล

จิตใจที่มีอริยทรัพย์ คือ รู้จักตนเอง : พระพิทยา ฐานิสสโร
จิตใจที่มีศีล คือ มีอริยทรัพย์ : พระพิทยา ฐานิสสโร

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here