หน้าแรก สื่อธรรมให้ถึงโลก

สื่อธรรมให้ถึงโลก

    วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ๘๙. วิธีการทำงานเผยแผ่ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ ๙๐.ต้นกำเนิดแห่งการริเริ่ม เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

    สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) จาริกธรรมไปปฏิบัติศาสนกิจวัดนิไทจิ ประเทศญี่ปุ่น ตามเส้นทางพระบรมสารีริกธาตุ เรียนรู้ปฏิปทา พระเถระแห่งยุุคสมัยในกึ่งพุทธกาล ผู้สร้างพระรุ่นใหม่เพื่อเป็นกำลังสืบทอดในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในยุคปัจจุบัน ท่านได้สร้างสรรค์พระพุทธศาสนาให้มีลมหายใจและมีชีวิตในการช่วยเหลือผู้คนให้พ้นทุกข์ทางใจได้อย่างมากมายมหาศาล "ปูชา จ ปูชนียานํ ...
    หนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕ : ขอบพระคุณ ภาพถ่ายหนังสือโดย รัฐนิธ โสจิระกุล

    ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ฉบับ ญาณวชิระ : ชาติที่ ๑๐ พระเวสสันดร มหาชาติ มหาทาน

    ขุนเขาย่อมมีวันทลาย สายน้ำย่อมมีวันเปลี่ยนทาง แต่ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง หนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐...
    สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) และคณะสงฆ์ วางรากฐานการสร้างวัดในทวีปยุโรป เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ประกอบพิธีอุปสมบทที่ประเทศเดนมาร์ก

    วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ๘๗. ให้โอวาทธรรมพระธรรมทูต ๘๘. อุดมการณ์การทำงานเผยแผ่ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

    พระพุทธศากยมุนี ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระราชทานให้ประเทศญี่ปุ่น พร้อมกับพระบรมสารีริกธาตุ “การสร้างวัดขึ้นในต่างประเทศ   การให้พระได้มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศก็เพื่อเตรียมต่อลมหายใจพระพุทธศาสนาให้อยู่ในโลกต่อไป  ไม่ใช่เพื่ออะไร  ก็เพื่ออนุเคราะห์โลก  เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่มหาชน” สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)
    หนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕ : ขอบพระคุณ ภาพถ่ายหนังสือโดย รัฐนิธ โสจิระกุล

    ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ฉบับ ญาณวชิระ : ชาติที่ ๙ พระวิธูรบัณฑิต สัจจะมหาบุรุษเหนือชีวิต

    หนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕ : ขอบพระคุณ ภาพถ่ายหนังสือโดย รัฐนิธ โสจิระกุล
    หนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕ : ขอบพระคุณ ภาพถ่ายหนังสือโดย รัฐนิธ โสจิระกุล

    ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ฉบับ ญาณวชิระ : ชาติที่ ๘ พระนารทมหาพรหม สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

    ขุนเขาย่อมมีวันทลาย สายน้ำย่อมมีวันเปลี่ยนทาง แต่ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ญาณวชิระ หนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ...
    พระพรหมวชิรญาณ (โรเบิร์ต สุเมโธ) กับ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)

    วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ๘๓. ความสงบจากภายในของพระอาจารย์สุเมโธ  ๘๔.  ตั้งพระอุปัชฌาย์ต่างประเทศครั้งแรก เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา...

    "ปูชา จ ปูชนียานํ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ. ขอนอบน้อมแด่ครู พระอุปัฌชาย์ อาจารย์ ผู้ให้ชีวิตในพระศาสนาของพระพุทธองค์ ด้วยเศียรเกล้าฯ"
    ๘ พระนารทมหาพรหม สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม “เว้นเราแล้ว ไม่มีใครสามารถปลดเปลื้อง พระเจ้าอังคติราช จากมิจฉาทิฏฐิได้ วันนี้เราควรจะไปสงเคราะห์พระธิดา และทำให้พระราชาพร้อมทั้งบริวารชนเกิดความสวัสดี” นารทมหาพรหม เป็นชาดกที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงเรื่องราวในอดีตชาติของพระองค์ เมื่อครั้งเกิดเป็นมหาพรหมนารทะ ทรงมีปณิธานที่จะบําเพ็ญ “อุเบกขาบารมี” นารทชาดก ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก มหานิบาต และอรรถกถา ขุททกนิกาย ชาดก มหานิบาต ขณะตรัสเล่าเรื่องนารทะ เป็นตอนต้นพุทธกาล ภายหลังจากที่พระองค์จําพรรษาแรกที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ รูป จนได้บรรลุอรหัตผลเป็นพระสาวกรุ่นแรก ภายในพรรษานั้น ยังมียสกุลบุตรและสหายออกบวชเพิ่มขึ้นอีก ขณะนั้น มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖๑ องค์ พระพุทธองค์มีรับสั่งให้ประชุมหมู่ภิกษุสงฆ์ตรัสส่งไปประกาศพระศาสนาว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ แม้พวกเธอ ก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ พวกเธอ จงเที่ยวจาริกไป เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล ความสุข แก่ทวยเทพ และมนุษย์ทั้งหลาย พวกเธอ อย่าได้ไปทางเดียวกันสองรูป จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะให้ครบบริบูรณ์ สัตว์ทั้งหลาย จําพวกที่มีธุลี คือ กิเลสในจักษุน้อย มีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรม ย่อมเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมี” พระพุทธองค์เสด็จกรุงราชคฤห์เพียงพระองค์เดียว เพื่อโปรดชฎิล ๓ พี่น้อง และเพื่อเปลื้อง ปฏิญญาที่ทรงให้ไว้กับพระเจ้าพิมพิสาร ขณะเสด็จกรุงราชคฤห์ ทรงมุ่งหน้าไปสู่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม พระพุทธองค์ได้ทรงแวะพักที่ไร่ฝ้ายชื่อ “กัปปาสิกวนาสณฑ์” ประทับนั่งใต้ร่มไม้ต้นหนึ่ง ครั้งนั้น ภัททวัคคีย์จำนวน ๓๐ คน ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้ามหาโกศล พาภรรยามาพักผ่อนอยู่ที่ไร่ฝ้ายนั้น คนหนึ่ง ไม่มีภรรยา พวกเพื่อน ๆ จึงนำหญิงขายบริการมาให้ ต่อมา หญิงขายบริการได้ขโมยเครื่องประดับหนีไป พวกภัททวัคคีย์จึงช่วยกันเที่ยวตามหา พบพระบรมศาสดา ประทับนั่งอยู่ที่ร่มไม้แห่งหนึ่ง จึงเข้าไปเฝ้าแล้วถามว่า “ข้าแต่สมณะ ท่านเห็นสตรีผ่านมาทางนี้บ้างหรือไม่” พระพุทธองค์ทรงย้อนถามว่า “พวกเธอต้องการสิ่งใดจากสตรีนั้น” พวกเขาตอบว่า “สตรีนั้น ขโมยเครื่องประดับเพื่อนพวกเราไป” พระพุทธองค์ตรัสว่า “ระหว่างการแสวงหาสตรี กับการแสวงหาตัวเอง สำหรับพวกเธอแล้ว อย่างไหนดีกว่ากัน” ภัททวัคคีย์ตอบว่า “การแสวงหาตัวเอง เป็นสิ่งที่ดีกว่า” พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “ถ้าเช่นนั้น พวกเธอจงนั่งลงเถิด เราจะแสดงธรรม แก่พวกเธอ” เมื่อภัททวัคคีย์นั่งลงแล้ว พระองค์ได้แสดงเทศนาชื่อ “อนุปุพพีกถา” อันเป็นการแสดงหัวข้อธรรมไปตามลำดับ จากหัวข้อธรรมง่าย ๆ ไปจนถึงหัวข้อธรรมที่ลึกซึ้ง ตั้งแต่ การให้ทาน การรักษาศีล การไปเกิดในสวรรค์ กามาทีนวกถา ว่าด้วยโทษของความเศร้าหมอง เพราะกามทั้งหลาย และ อานิสงส์ของการออกจากกาม เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบว่า ทุกคนมีจิตสงบ ปราศจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน ผ่องใสแล้ว จึงทรงแสดงอริยสัจ ๔ ทำให้ภัททวัคคีย์ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ขออุปสมบทกับพระพุทธองค์ โปรดชฎิล ๓ พี่น้อง ภายหลังจากนั้น พระบรมศาสดาเสด็จจาริกไปโดยลำดับ จนถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ซึ่งเป็นที่อยู่ของเหล่าฤาษีทั้งหลาย มาเก่าแก่ สมัยนั้น ฤาษีชฎิล ๓ พี่น้อง ตั้งสำนักบำเพ็ญตบะอยู่ ณ อุรุเวลาเสนานิคมนี้ คือ อุรุเวลกัสสปะ เป็นหัวหน้าเหล่าชฎิล ๕๐๐ คน นทีกัสสปะ เป็นหัวหน้า เหล่าชฎิล ๓๐๐ คน และคยากัสสปะ เป็นหัวหน้าเหล่าชฎิล ๒๐๐ คน พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปสู่อาศรมของอุรุเวลกัสสปะ หลังจากมีปฏิสันถารกันตามสมควรแล้ว จึงตรัสว่า “กัสสปะ ถ้าท่านไม่ขัดข้อง เราจะขอพักอาศัยอยู่ในโรงบูชาไฟของท่าน สักราตรีหนึ่ง” อุรุเวลกัสสปะตอบว่า “มหาสมณะ ข้าพเจ้าไม่ขัดข้องเลย แต่ในโรงบูชาไฟนั้น มีพญานาคดุร้าย มีฤทธิ์ และพิษร้ายแรง อาศัยอยู่ อาจทำอันตรายท่านได้” พระบรมศาสดาตรัสว่า “เราแน่ใจว่า พญานาคจะไม่ทำอันตรายเรา เพียงท่านอนุญาต ให้เราพักอาศัยเท่านั้น” พระพุทธองค์ตรัสถึงสองสามครั้ง อุรุเวลกัสสปะจึงกล่าวว่า “มหาสมณะ เชิญท่านพักอาศัยในโรงบูชาไฟตามอัธยาศัยเถิด” ทรงแสดงปาฏิหาริย์ พระบรมศาสดาเสด็จเข้าสู่โรงบูชาไฟ ประทับนั่งขัดสมาธิ ตั้งพระวรกายตรง ดำรงพระสติไว้มั่น ครั้นพญานาคเห็นพระพุทธองค์เสด็จเข้ามาในโรงบูชาไฟที่ตนอาศัยอยู่ รู้สึกไม่พอใจ จึงพ่นควันขึ้น พระพุทธองค์ทรงดำริว่า ควรครอบงำเดชของพญานาคนี้ ด้วยเดชของพระองค์ โดยไม่ให้กระทบแม้ผิวหนัง จึงทรงบันดาลด้วยอิทธิฤทธิ์ให้เกิดควันขึ้นบ้าง พญานาคทนความลบหลู่ไม่ได้ จึงพ่นไฟออกมาในทันที พระพุทธองค์ก็ทรงเข้าเตโชกสิณมีธาตุไฟเป็นอารมณ์ บันดาลไฟต้านทานไว้เช่นกัน เมื่อไฟของทั้งสองฝ่าย ลุกโชติช่วงขึ้น โรงบูชาไฟก็รุ่งโรจน์ ปรากฏดุจไฟโหมลุกไหม้ไปทั่ว พวกชฎิลต่างกล่าวกันว่า “พระสมณะรูปงามคงถูกพญานาคเผาตายไปแล้วแน่” ครั้นราตรีนั้นผ่านไป เปลวไฟของพญานาคไม่ปรากฏ แต่เปลวไฟของพระพุทธองค์ยังปรากฏอยู่ เปล่งพระรัศมีประกายต่าง ๆ คือ สีขาว สีเขียว สีแดง สีหงสบาท สีเหลือง สีแก้วผลึก ซ่านออกจากพระวรกาย พระพุทธองค์ทรงขดพญานาคไว้ในบาตร แล้วทรงแสดงแก่ชฎิลนั้น ตรัสว่า “นี่พญานาคของท่าน เราสะกดไว้ ด้วยเดชของเราแล้ว” อุรุเวลกัสสปะรู้สึกเลื่อมใสในอิทธิปาฏิหาริย์ของพระพุทธองค์ แต่ก็ยังคิดว่า “พระมหาสมณะนี้ มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก ก็จริง แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเรา” จึงออกปากชวนให้พระพุทธองค์พำนักอยู่ในที่นั้น พระพุทธองค์เสด็จไปประทับอยู่ใกล้ป่าแห่งหนึ่ง ไม่ไกลจากอาศรมของอุรุเวลกัสสปะ เมื่อราตรีปฐมยามผ่านไป ท้าวมหาราชทั้ง ๔ มาเฝ้าพระองค์ ถวายบังคมแล้ว ยืนถวายการอารักขาอยู่ทั้ง ๔ ทิศ ครั้นรุ่งเช้า ถึงเวลาภัตตาหาร อุรุเวลกัสสปะเข้าไปทูลถามว่า “เมื่อคืน ใครเข้ามาหาท่าน มีรัศมีงาม ทำให้ป่าสว่างไสวไปทั่ว” พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า “ท่านเหล่านั้น คือ ท้าวมหาราชทั้ง ๔ เข้ามาหาเรา เพื่อฟังธรรม” อุรุเวลกัสสปะคิดว่า พระมหาสมณะ มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ ถึงกับท้าวมหาราชทั้ง ๔ เข้ามาหาเพื่อฟังธรรม แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่ พระพุทธองค์ ฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ยังคงประทับอยู่ในไพรสณฑ์นั้น ได้แสดงปาฏิหาริย์ โดยประการต่าง ๆ จนทำให้อุรุเวลกัสสปะเกิดศรัทธาเลื่อมใส พระพุทธองค์ตรัสว่า “กัสสปะ ท่านไม่ใช่พระอรหันต์ ทั้งยังไม่พบทางแห่งความเป็นพระอรหันต์ แม้แต่ปฏิปทาของท่าน ที่จะเป็นเหตุให้เป็นพระอรหันต์ หรือพบทางแห่งความเป็นพระอรหันต์ ก็ยังไม่มี” อุรุเวลกัสสปะฟังพระพุทธดำรัสนั้นแล้ว ซบศีรษะลงแทบพระบาทของพระพุทธองค์ ทูลขอบรรพชาอุปสมบท เป็นเหตุให้นทีกัสสปะ คยากัสสปะ ผู้เป็นน้องชาย พร้อมทั้งบริวาร ละทิ้งเพศฤาษี บวชตามเช่นกัน ต่อมา พระองค์ทรงแสดงเทศนา ชื่อว่า “อาทิตตปริยายสูตร” ว่าด้วยกิเลส คือ ราคะ โทสะ โมหะ ร้อนแรงเหมือนไฟ โปรดพระภิกษุชฎิล ๓ พี่น้อง ให้ได้บรรลุอรหัตผล พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ตำบลคยาสีสะ ตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว จากนั้น จึงเสด็จจาริกสู่นครราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวน ๑,๐๐๐ รูป ซึ่งเป็นนักบวชชฎิลเก่า เพื่อโปรดพระเจ้าพิมพิสาร ประทับอยู่ที่อุทยานลัฏฐิวัน เขตกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ พระเจ้าพิมพิสารทรงสดับแน่ชัดแล้วว่า เจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งออกผนวช บัดนี้ ได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ เสด็จมาถึงกรุงราชคฤห์แล้ว ขณะนี้ ประทับอยู่ในอุทยานลัฏฐิวัน ทรงแวดล้อมด้วยพราหมณ์ คหบดีชาวมคธ ๑๒ นหุต (สิบสองหมื่น) เสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า บางพวกถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วเลือกนั่งที่สมควร บางพวก ทูลปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว นั่ง บางพวก ประคองอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วนั่ง บางพวก แนะนำนามและโคตรของตน แล้วนั่ง บางพวก นั่งนิ่งเฉยอยู่ ครั้งนั้น พราหมณ์ คหบดีชาวมคธ เกิดความสงสัยว่า พระมหาสมณโคดมประพฤติพรหมจรรย์ตามท่านอุรุเวลกัสสปะ หรือท่านอุรุเวลกัสสปะประพฤติพรหมจรรย์ตามพระมหาสมณโคดม พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความดำริในใจของพราหมณ์ คหบดีชาวมคธนั้น จึงตรัสกับพระอุรุเวลกัสสปะว่า “กัสสปะ ท่านอยู่ตำบลอุรุเวลามานาน เคยเป็นอาจารย์สั่งสอนหมู่ชฎิล ท่านเห็นเหตุอันใด จึงยอมละทิ้งการบูชาไฟ ที่เคยกระทำมาเป็นเวลานาน” พระอุรุเวลกัสสปะทูลตอบว่า “ยัญทั้งหลาย กล่าวยกย่อง รูป เสียง กลิ่น รส และ สตรีทั้งหลาย ว่า เป็นสิ่งที่พึงปรารถนา บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้าทราบจากพระพุทธองค์ว่า สิ่งเหล่านั้น เป็นมลทิน เป็นกิเลส เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงไม่ยินดีในการเซ่นสรวง บูชายัญ” พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า “กัสสปะ เมื่อใจของท่านไม่ยินดีในอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น และรส เหล่านั้น ใจของท่านยินดีในสิ่งไรเล่า ท่านยินดีในเทวโลก หรือมนุษยโลก” พระอุรุเวลกัสสปะกราบทูลตอบว่า “ข้าพระพุทธเจ้า ได้เห็นทางอันสงบ ปราศจากกิเลส ปราศจากความกังวล ไม่ติดอยู่ในกามภพ ไม่มีภาวะเป็นอย่างอื่น อันเป็นธรรมที่พระองค์แนะให้บรรลุ เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จึงไม่ยินดีทั้งเทวโลกและมนุษยโลก” เพื่อจะประกาศภาวะที่ตนเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า จึงซบศีรษะลงที่หลังพระบาทของพระตถาคต ประกาศว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นศาสดา ของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก” ดังนี้แล้ว เหาะขึ้นสู่ท้องฟ้าสูง ๗ ชั่วลำตาล แล้วกลับลงมา ถวายบังคมพระพุทธเจ้า มหาชนเห็นปาฏิหาริย์ดังนั้น ก็ได้กล่าวสรรเสริญคุณพระบรมศาสดาว่า “น่าอัศจรรย์จริง พระพุทธเจ้ามีอานุภาพมาก พระอุรุเวลกัสสปะมีความเห็นผิด เข้าใจว่า ตนเป็นพระอรหันต์ พระองค์ก็สามารถทำลายความเห็นผิด ทรมานเสียได้” พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงสดับดังนั้นแล้ว จึงตรัสว่า การที่เราได้บรรลุสัพพัญญุตญาณแล้ว ทรมานอุรุเวลกัสสปะในชาตินี้ ไม่น่าอัศจรรย์ เท่ากับในอดีตชาติ แต่ขณะที่เรายังมีราคะ โทสะ และโมหะ เกิดเป็นพรหม ชื่อว่า “นารทะ” ได้ทำลายข่าย คือ ทิฏฐิของอุรุเวลกัสสปะ ทำให้หมดพยศ เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์กว่า ดังนี้แล้ว จึงตรัสเล่าเรื่องในอดีตชาติของพระองค์ เมื่อครั้งเกิดเป็นนารทพรหม ให้มหาชนชาวมคธฟัง เสด็จออกสีหบัญชร ในอดีตกาล ยังมีพระราชาพระองค์หนึ่ง พระนามว่า “พระเจ้าอังคติราช” ครองราชสมบัติ ในกรุงมิถิลานคร วิเทหรัฐ พระองค์เป็นพระธรรมราชา ปกครองแผ่นดินด้วยทศพิธราชธรรม พระองค์มีพระราชธิดาพระองค์หนึ่ง พระนามว่า “เจ้าหญิงรุจาราชกุมารี” มีพระสิริโฉมงดงาม มีบุญญาธิการมาก ทั้งฉลาดหลักแหลม ส่วนพระเทวีคนอื่น ๆ ของพระองค์ มีจำนวนถึง ๑๖,๐๐๐ นาง ทุกคนเป็นหญิงหมัน เจ้าหญิงรุจาราชกุมารี พระธิดาเพียงพระองค์เดียว จึงเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าอังคติราชยิ่งนัก พระองค์ได้จัดผ้าเนื้อละเอียด ประมาณค่ามิได้ พร้อมกับผอบเต็มด้วยดอกไม้นานาชนิด ๒๕ ผอบ ของเสวยที่ประณีตยิ่ง ส่งไปพระราชทานพระราชธิดาทุกวัน นอกจากนั้น พระองค์ยังได้ส่งเงินสำหรับให้ทาน จำนวน ๑,๐๐๐ กหาปณะ ไปพระราชทานให้เจ้าหญิงทุกกึ่งเดือน ทรงตรัสว่า “ลูกจงใช้ทรัพย์ส่วนนี้ ให้ทานเถิด” พระเจ้าอังคติราชมีอำมาตย์ผู้ใหญ่เป็นคณะมนตรีอยู่ ๓ นาย คือ วิชยะอำมาตย์ สุนามะอำมาตย์ และอลาตะเสนาบดีอำมาตย์ เป็นราชบัณฑิตผู้มีความเฉลียวฉลาด ยิ้มแย้มก่อนพูดเสมอ ครั้นถึงคืนวันเพ็ญกลางเดือน ๑๒ ฤดูกาลที่ดอกบัวบานสะพรั่งไปทั่ว เป็นเทศกาลมหรสพ ประจำปีของชาวมิถิลานคร ประชาชนต่างพากันตบแต่งพระนครไว้อย่างดงามตระการตา ราวกับเทพนคร ตามท้องถนน และที่สาธารณะ ตลอดจนภายในเขตพระราชฐาน ถูกประดับด้วยมวลดอกไม้นานาพันธุ์ มีธงทิว และธงแผ่นผ้าหลากสี เรียงราย ต้องลมเหนือ โบกสะบัด ละลานตา โคมไฟ ห้อยระย้า ส่องเรือนยอดปราสาทราชฐาน งดงามยิ่ง พระเจ้าอังคติราชทรงสรงสนาน ลูบไล้พระองค์อย่างดี แล้วประดับเครื่องประดับของพระราชา อย่างอลังการ เสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว เสด็จออกสีหบัญชรไชย ประทับนั่ง เหนือพระราชอาสน์ บนพื้นมหาปราสาท มีหมู่มหาอำมาตย์ ข้าราชบริพาร ตลอดจนกองพลโยธาทุกหมู่เหล่าแวดล้อม ทอดพระเนตรขึ้นไปบนท้องฟ้า พระจันทร์คืนเพ็ญ ไร้เมฆหมอกบดบังทรงกลด ลอยเด่นอยู่กลางพื้นฟ้า จึงมีพระราชดำรัสถามเหล่าอำมาตย์ข้าราชบริพารไปทีละคน ว่า “ราตรีอันบริสุทธิ์เช่นนี้ น่ารื่นรมย์ยิ่งนัก ดวงจันทร์ก็แจ่มจรัส ราตรีเช่นนี้ เราควรทำอะไรให้เบิกบานใจ กันดี” เหล่าอำมาตย์เสนาบดีต่างก็ได้แสดงความคิดเห็นของตน ๆ ที่คิดว่า จะถูกพระทัยพระราชา ไปตามลำดับ อลาตะเสนาบดีได้กราบทูลว่า “ขอเดชะ พลช้าง พลม้า พลเสนา แห่งมิถิลานครทุกหมู่เหล่า ล้วนกล้าแกร่ง พวกข้าพระองค์จะนำทหารฉกรรจ์ออกรบ เมืองใดยังไม่ยอมเป็นข้าขอบขัณฑสีมา ก็จะนำมาสู่พระราชอำนาจของพระองค์ พวกเราจะได้ชัยชนะผู้ที่เรา ยังไม่ชนะ” สุนามะอำมาตย์กราบทูลว่า “ขอเดชะ พวกอริข้าศึกศัตรูของพระองค์ ล้วนอยู่ในพระราชอำนาจ ต่างพากันวางศาสตรา ยอมสวามิภักดิ์กันหมดแล้ว ข้าพระองค์ไม่เห็นด้วกับการรบ วันนี้ เป็นวันมหรสพ เป็นวันที่ควรจะสนุกสนาน ขอให้ประชาชนจัดเตรียมข้าวปลา อาหารมาเพื่อพระองค์ จะได้เฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่ ขอพระองค์จงทรงรื่นรมย์ด้วยกามคุณ และการฟ้อนรำขับร้อง การประโคมเถิด พระเจ้าข้า” วิชยะอำมาตย์ ฟังคำอำมาตย์ทั้งสองแล้ว เห็นพระองค์นิ่งอยู่ ไม่ทรงยอมรับ ไม่ทรงคัดค้าน ก็รู้ได้ทันทีว่า ยังไม่เป็นที่พอพระทัย จึงกราบทูลว่า “ข้าแต่พระมหาราชเจ้า กามคุณทุกอย่าง บำเรอพระองค์เป็นนิตย์อยู่แล้ว การที่จะทรงเพลิดเพลินด้วยกามคุณ พระองค์ทรงหาได้ไม่ยากเลย ทรงปรารถนาเมื่อไร ก็ได้ทุกเมื่อ ข้าพระองค์ไม่เห็นด้วยกับกามคุณ ข้าพระองค์เห็นว่า วันนี้เราทั้งหลายควรพากันไปหาสมณะหรือพราหมณ์ ผู้เป็นพหูสูต รู้แจ้งอรรถธรรม ที่จะคลายความสงสัยพวกเราได้” พระเจ้าอังคติราชชอบพระทัยข้อเสนอวิชยะอำมาตย์ จึงตรัสว่า “เราเห็นด้วยกับความคิดนี้ ทุกท่านจงถือตามมติของวิชยะอำมาตย์” แล้วตรัสถามว่า “พวกเราควรจะไปหาบัณฑิตเช่นนั้นที่ไหนกัน” อลาตะเสนาบดีเสนอให้ไปหานักบวชเปลือยอเจลกะชื่อว่า “คุณะ ผู้กัสสปโคตร” เป็นพหูสูต พูดจาไพเราะ เป็นเจ้าคณะที่คนรู้จักไปทั่วว่า เป็นนักปราชญ์ อยู่ในอุทยานมฤคทายวัน การที่อลาตะเสนาบดีกราบทูลเสนอดังนี้ ก็เพื่อต้องการให้นักบวชประจำตระกูลของตน ได้เข้าถึงราชสกุล พระราชาจึงมีรับสั่งให้สารถี เตรียมการเสด็จไปยังมฤคทายวัน นายสารถีได้จัดพระราชยานขบวนเสด็จสำหรับรถพระที่นั่ง ล้วนแล้วแต่เครื่องประดับ ทำจากงา มีเพลาเป็นเงิน มีสีขาวล้วน ผุดผ่อง ดังดวงจันทร์ในราตรีไร้เมฆ เทียมด้วยม้าสินธพสีขาว ดังสีดอกโกมุท ๔ ตัว ล้วนเป็นม้าฝีเท้าเรียบ วิ่งเร็วดังสายลม ทั้งฉัตรกั้น ราชรถ ม้า และพัดวีชนีก็สีขาวล้วน กระทบแสงจันทร์คืนเพ็ญในราตรีกาลอันงดงาม เมื่อพระเจ้าอังคติราชเสด็จออกจากพระนคร พร้อมด้วยหมู่อำมาตย์ ข้าราชบริพาร และ พลทหารผู้กล้าหาญถือหอกดาบตามเสด็จว่องไวดุจสายลม งดงามราวพระจันทร์ เคลื่อนไปในพื้นฟ้ายามราตรีกาล พระองค์เสด็จถึงป่ามฤคทายวันโดยครู่เดียว เสด็จลงจากพระราชยาน ทรงดำเนินเข้าไปหาคุณาชีวก ผู้กัสสปโคตร พร้อมด้วยหมู่อำมาตย์ ในค่ำคืนนั้น มีพราหมณ์ และคหบดี ตลอดจนประชาชน มาประชุมกันอยู่ในพระราชอุทยาน เป็นจำนวนมาก พระเจ้าอังคติราช ไม่ให้พราหมณ์ และคหบดี ตลอดจนประชาชนที่นั่งอยู่ก่อน ลุกออกไป ทรงให้ข้าราชบริพารนั่งปะปนอยู่ในที่นั้น ทรงปฏิสันถารกับประชาชนอย่างไม่ถือพระองค์ ครั้นแล้ว พระองค์ได้ตรัสถามทุกข์สุขกับคุณาชีวกถึงสุขภาพร่างกายตลอดจนอาหารบิณฑบาต ส่วนคุณาชีวกก็ทูลปฏิสันถารกับพระเจ้าอังคติราชถึงพระสุขพลานามัย ราชพาหนะ ตลอดจนความสงบสุขของเหตุการณ์บ้านเมือง ครั้นคุณาชีวกทูลปฏิสันถารแล้ว พระราชาทรงประสงค์จะฟังธรรม จึงตรัสถามว่า “ท่านกัสสปะ นรชนพึงประพฤติธรรมในมารดาบิดา ครูอาจารย์ บุตร ภรรยา ผู้เฒ่าผู้แก่ พลนิกาย ตลอดจนบ้านเมือง อย่างไร อนึ่งเล่า ผู้คนประพฤติธรรมอย่างไร ตายจากโลกนี้ไปแล้ว จึงจะได้ไปสวรรค์ ส่วนคนบางพวกไม่ตั้งอยู่ในธรรมอย่างไร จึงตกนรก” แท้จริง ปัญหานั้น เป็นปัญหาใหญ่ ที่พระราชาควรตรัสถามพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระพุทธสาวก และพระมหาโพธิสัตว์ เท่านั้น แต่พระราชากลับตรัสถามคุณาชีวก ผู้เป็นนักบวชเปลือยกาย ครั้นคุณาชีวกถูกพระเจ้าอังคติราชถามอย่างนี้ มืดเหมือนถูกค้อนทุบ ไม่เห็นคำอธิบายที่เหมาะสม ไม่รู้จะตอบอย่างไร จึงกราบทูลมิจฉาวาทะตามความเห็นผิดของตนว่า “ขอพระองค์ทรงสดับ ผลแห่งธรรมที่ประพฤติแล้ว เป็นบุญเป็นบาป ไม่มีโลกนี้โลกหน้า ไม่มีใครบ้างที่จากปรโลกมายังโลกนี้ ปู่ย่าตายาย ไม่มี แล้วมารดาบิดา จะมีที่ไหน ครูบาอาจารย์ ไม่มี ใครจะฝึกผู้ที่เป็นศิษย์ สัตว์ทุกจำพวกทุกหมู่เหล่าเสมอกันหมด ผู้ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ ไม่มี กำลังหรือความเพียร ก็ไม่มี แล้วลูกผู้ชายผู้มีความเพียรจะได้รับผลแห่งความเพียรจากที่ไหน สัตว์ทั้งหลายเกิดตามกันมาเหมือนเรือพ่วงลำน้อยพ่วงท้ายเรือใหญ่ สัตว์ย่อมได้สิ่งที่ควรได้ตามสัญชาตญาณ แล้วผลทานจะมีจากที่ไหน ผลแห่งทาน ไม่มี ผลแห่งความเพียร ก็ไม่มี คนโง่บัญญัติทานไว้ คนฉลาดรับทาน คนโง่สำคัญตัวว่าฉลาด เพราะไร้อำนาจจึงให้ทานแก่คนฉลาดทั้งหลาย” ครั้นคุณาชีวกแสดงการให้ทานว่า ไม่มีผลอย่างนี้แล้ว จึงแสดงการทำบาป ไม่มีผล ต่อไปว่า “รูปกายเป็นที่ประชุมกันเข้าของดิน น้ำ ลม ไฟ สุข ทุกข์ และชีวะ จึงเป็นของเที่ยง ไม่ขาดสูญ รูปกายของสัตว์ที่ขาดสูญ จึงไม่มี ผู้ฆ่า ผู้ตัด หรือใคร ๆ ที่ถูกฆ่า ก็ไม่มี ศาสตราเป็นเพียงสิ่งที่ผ่านไปในระหว่างรูปกายทั้ง ๗ นี้ เท่านั้น ผู้ตัดศีรษะผู้อื่นด้วยคมดาบ จึงไม่ชื่อว่าตัดร่างกายแล้วผลบาปจะมีจากที่ไหน สัตว์ทุกจำพวกทุกหมู่เหล่าท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสารจนถึง ๘๔ มหากัป ถึงเวลาก็บริสุทธิ์ ได้เอง เมื่อยังไม่ถึงกาลนั้น แม้จะสำรวมดีอย่างไร แม้จะประพฤติดีอย่างไร ก็หาบริสุทธิ์ได้ไม่ แต่ถึงแม้สัตว์กระทำบาปไว้มหันต์ ทำบุญไว้อนันต์ ก็ไม่ล่วง ๘๔ กัปไปได้ เหมือนคลื่นล้นจากฝั่งไปไม่ได้” คุณาชีวกได้กราบทูลเป็นที่น่าเชื่อถือไปตามกำลังความคิดของตนโดยไม่มีหลักฐานอะไร ๆ รองรับเลย กรรมของเสนาบดี ขณะนั้น อลาตะเสนาบดีฟังคำคุณาชีวกได้กล่าวขึ้นท่ามกลางประชาชนว่า “ข้าพเจ้าชอบใจที่ท่านพูด แม้ข้าพเจ้าก็ระลึกชาติได้ชาติหนึ่ง คือ ในชาติก่อน ข้าพเจ้าเคยเกิดในเมืองพาราณสี เป็นเมืองที่มั่งคั่ง ผู้คนหนาแน่น เป็นนายพรานฆ่าโค ชื่อว่า “ปิงคละ” ข้าพเจ้าได้ทำบาปกรรมไว้มากมาย ได้ฆ่าทั้งโค กระบือ หมู แพะ เป็นอันมาก เมื่อข้าพเจ้าตายจากชาตินั้น แล้ว มาเกิดในตระกูลเสนาบดีอันบริสุทธิ์นี้ บาปไม่มีผลแน่ ก็ถ้าบาปมีผล ทำไมข้าพเจ้าจึงไม่ตกนรก” ในอดีตชาติ ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามกัสสปะ อลาตะเสนาบดีนั้น เคยทำบุญด้วยการสักการะบูชาพระเจดีย์ด้วยพวงดอกอังกาบ ด้วยจิตศรัทธาตั้งมั่น หลังจากตายถูกกรรมอย่างอื่น ซัดให้เป็นไปตามอำนาจของกรรมนั้น ท่องเที่ยวไปในวัฏสงสาร ด้วยผลแห่งบาปกรรมอย่างหนึ่ง ในชาติถัดจากนี้ไป ทำให้เขาได้มาเกิดในตระกูลคนฆ่าโค มีชื่อว่า “ปิงคละ” ได้ทำกรรมด้วยการฆ่าสัตว์ไว้มาก ตามอาชีพของตระกูล ครั้นเวลาที่จะตาย บุญที่เคยสักการะบูชาพระเจดีย์ ซึ่งยังไม่ให้ผล ได้มาให้ผลคั่นในระหว่างกรรมนั้น ทำให้กรรมจากการมีอาชีพฆ่าสัตว์คุกรุ่นสงบนิ่ง รอวันให้ผล เหมือนไฟที่ถูกขี้เถ้า กลบไว้ เขาจึงมาบังเกิดในตระกูลอำมาตย์ ทำให้ได้รับสมบัติเช่นนั้น และระลึกได้เฉพาะชาติ ที่ทำการฆ่าโคเท่านั้น ไม่อาจระลึกถึงบุญกรรมอื่น ในอดีตที่ห่างออกไป อลาตะเสนาบดี จึงสนับสนุนคำพูดคุณาชีวกนั้น เพราะเข้าใจว่า ตนได้ทำกรรม คือ การฆ่าโคไว้มาก ก็ยังได้มาเกิดเป็นเสนาบดี มีอำนาจสู งสุดเหนืออำมาตย์คนอื่นในมิถิลานคร บุญของทาส ขณะนั้น ในมิถิลานคร ยังมีชายเข็ญใจคนหนึ่ง ชื่อว่า “วีชกะ” เป็นทาสของคนอื่น กำลังรักษาอุโบสถศีล ได้ไปสำนักคุณาชีวก ได้ฟังคำสอนคุณาชีวก และอลาตะเสนาบดี จึงถอนหายใจฮึดฮัด แล้วร้องไห้ พระราชาตรัสถามว่า “เจ้าร้องไห้ทำไม ไม่สบายหรือเปล่า เจ้าได้ฟังหรือประสบสิ่งใดมา จึงร้องไห้” นายวีชกะกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ ไม่ได้มีทุกขเวทนาอันใดเลยพระเจ้าข้า แม้ข้าพระองค์ ก็ระลึกถึงความสุขสบายของตนในอดีตชาติได้เช่นกัน คือ ในชาติก่อน ข้าพระองค์เคยเกิดเป็นภาวะเศรษฐี อยู่ในเมืองสาเกต ข้าพระองค์ได้รับการอบรมสั่งสอนมาดี ยินดีในการทำบุญให้ทาน มีอาชีพบริสุทธิ์ ข้าพระองค์พยายามนึกถึงบาปกรรมที่ตนกระทำไว้ ก็ไม่เห็นมีเลย แต่ข้าพระองค์ ตายจากชาตินั้นแล้ว กลับได้มาเกิดในครรภ์ของนางกุมภทาสี ซึ่งเป็นหญิงขัดสนในมหานครแห่งนี้ ตั้งแต่เกิดมา ข้าพระองค์ ก็ยากจนเรื่อยมา ไม่รู้ว่า ความสุขเป็นอย่างไร แม้จะยากจน เช่นนี้ ก็ตั้งมั่นทำความดี ได้แบ่งอาหารครึ่งหนึ่งทำบุญ ได้รักษาอุโบสถศีลในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ตลอดมา ไม่ได้เบียดเบียนสัตว์ และไม่ได้ลักทรัพย์เลย บุญทั้งหมดที่ข้าพระองค์ทำ ศีลที่ข้าพระองค์รักษา เห็นจะไร้ประโยชน์ ตามที่อลาตะเสนาบดีกล่าวเป็นแน่ ชีวิตของข้าพระองค์จึงประสบแต่ความล้มเหลว พบแต่ความปราชัย เหมือนนักเลงพนัน อ่อนหัด ส่วนอลาตะเสนาบดี กลับประสบแต่ความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน มีแต่ชัยชนะ เหมือนนักเลงผู้ชำนาญการพนัน ข้าพระองค์ไม่เคยพบความสุขสบายบ้างเลย เมื่อได้มาฟังธรรมคุณาชีวกแล้ว จึงร้องไห้ เสียใจ” ในอดีตชาติ ในกาลพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ นายวีชกะนั้น เกิดเป็นคนเลี้ยงโค เที่ยวตามหาโคที่หายจากฝูง เขาออกเที่ยวตามหาโคไปตามป่า ถูกพระธุดงค์หลงทางรูปหนึ่ง ถามทางออกจากป่า รู้สึกหงุดหงิด จึงนิ่งเสีย เมื่อถูกท่านถามซ้ำอีก ก็โกรธ แล้วกล่าวว่า “พระขี้ข้านี้ พูดมากจัง เห็นทีจะเป็นขี้ข้าเขา จึงพูดมาก” กรรมดังกล่าวนี้ หาได้ให้ผลในชาตินั้นไม่ แต่สงบนิ่งอยู่ เหมือนไฟที่ถูกเถ้ากลบปิดไว้ ครั้นถึงเวลาตาย กรรมอื่นให้ผลก่อน เขาจึงท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสาร ตามลำดับของกรรม เพราะผลแห่งกุศลอย่างหนึ่ง ทำให้เขาได้มาเกิดเป็นเศรษฐี ในเมืองสาเกต มีชื่อว่า ภาวะเศรษฐี ได้ทำบุญไว้มากมาย หลังตายจากชาติเศรษฐีนั้นแล้ว กรรมที่เขาด่าพระภิกษุผู้หลงทาง ได้โอกาส จึงมาให้ผล ทำให้มาเกิดเป็นทาสคนอื่น ในชาตินี้ เมื่อนายวีชกะระลึกได้เฉพาะชาติที่เกิดเป็นภาวะเศรษฐีทำบุญไว้มากเท่านั้น แต่ไม่รู้ถึงชาติที่ทำกรรมไว้ จึงกล่าวอย่างนั้น ด้วยเข้าใจว่า แม้ทำบุญไว้มากมาย ยังต้องมาเกิดเป็นทาส พระเจ้าอังคติราชตรัสกับเขาว่า “วีชกะ ทางไปสุคติ ไม่มี เธอยังสงสัยอยู่อีกหรือ สุขหรือทุกข์ สัตว์ย่อมได้เองแน่นอน สัตว์ทั้งปวงหมดจดได้ ด้วยการเวียนว่ายตายเกิด เมื่อถึงเวลา ก็จะบริสุทธิ์เอง เธออย่ารีบด่วนไปเลย เมื่อก่อนเราเองก็ทำกุศลมากมาย เอาใจใส่ในพราหมณ์ และคหบดีทั้งหลาย อนุศาสน์ราชกิจอยู่เนือง ๆ เพื่อให้ประชาชนไม่ประมาทในการใช้ชีวิต” ครั้นแล้ว พระราชาได้ตรัสบอกลาคุณาชีวกว่า “ท่านกัสสปโคตร พวกข้าพเจ้าหลงเข้าใจผิด มานาน แต่มาบัดนี้ พวกข้าพเจ้าได้อาจารย์แล้ว ตั้งแต่นี้ไป พวกข้าพเจ้าจะเพลิดเพลินยินดีในกามคุณ แม้การฟังธรรมในสำนักท่าน นานไปกว่านี้ ก็ทำให้พวกข้าพเจ้าเสียเวลาเปล่า ท่านจงหยุดเถิด” พระเจ้าอังคติราช ราชาแห่งแคว้นวิเทหรัฐ เสด็จกลับพระราชนิเวศน์ โดยที่ไม่ได้พระราชทาน เครื่องสักการะสิ่งใด แก่คุณาชีวก ตอนแรก พระราชาเสด็จไปพบคุณาชีวก ทรงนมัสการแล้ว จึงตรัสถามปัญหา เมื่อเสด็จกลับ ไม่ได้ทรงนมัสการ เพียงแต่การนมัสการคุณาชีวก พระเจ้าอังคติราช ยังไม่ทรงทำ ไฉน พระองค์จะพระราชทานเครื่องสักการะ เพราะเข้าใจว่า คุณาชีวกเป็นผู้ไม่มีคุณอะไรเลย ครั้นวันรุ่งขึ้น พระองค์จึงให้ประชุมเหล่าอำมาตย์ ให้จัดงานรื่นเริงบำเรอความสุขกัน รับสั่ง ว่า “นับแต่วันนี้ไป เราจะเสพเสวยความสุขในกามคุณเท่านั้น อย่าเอาราชกิจอย่างอื่นมารายงาน ให้เรารู้ ถึงแม้จะเป็นราชการลับก็ตาม” ทรงมอบให้วิชยะอำมาตย์ สุนามะอำมาตย์ และอลาตะเสนาบดี เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แทน ส่วนข้าราชบริพารที่เหลือ ให้มาสนุกเพลิดเพลินอยู่กับพระองค์ ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา พระองค์ก็ไม่ใส่พระทัยราชกิจอะไรอีกเลย เจ้าหญิงแห่งอดีต ตามปกติเจ้าหญิงรุจาราชกุมารีจะเข้าเฝ้าพระบิดาก่อนวันพระ ๑๕ ค่ำ หนึ่งวัน นับแต่วันที่พระบิดาไปพบคุณาชีวกมาจนถึงวันนี้ เป็นวันที่ ๑๔ เจ้าหญิงรุจารับสั่งให้พี่เลี้ยงช่วยประดับพระองค์ เตรียมเข้าเฝ้าพระบิดา ทรงมีหญิงบริวารเป็นอันมากห้อมล้อม พระฉวีวรรณผุดผ่อง พระสิริโฉมงดงาม ราวกับนางเทพกัญญา พาหมู่พี่เลี้ยงนางนม ลงจากปราสาทด้วยสิริวิลาศอันยิ่งใหญ่ เสด็จไปยังจันทกปราสาท เพื่อเฝ้าพระชนกนาถ พระเจ้าอังคติราช ทอดพระเนตรเห็นพระธิดามา ทรงมีพระทัยชื่นบาน ให้จัดสิ่งของต้อนรับพระธิดาอย่างมากมาย เมื่อจะส่งกลับ จึงได้พระราชทานเงิน ๑,๐๐๐ กหาปณะ สำหรับให้ทาน แล้วส่งพระธิดากลับว่า “ลูกรัก ลูกจงเอาเงิน ให้ทานเถิด” เจ้าหญิงรุจาราชกุมารี เสด็จกลับไปยังพระตำหนักของพระองค์ แล้ว วันรุ่งขึ้น เป็นวันพระ ๑๕ ค่ำ จึงทรงรักษาอุโบสถศีล ทรงให้ทานคนกำพร้า คนเดินทางไกล ยาจก และวณิพก เป็นอันมาก ตามที่เคยทำมา พระเจ้าอังคติราชนั้น ได้พระราชทานชนบทแห่งหนึ่ง แก่พระราชธิดา เจ้าหญิงรุจาราชกุมารี นำรายได้จากชนบทนั้น มาเป็นค่าใช้จ่ายในกิจการทุกอย่างของพระองค์ ในเวลานั้น เกิดเสียงลือกระฉ่อนไปทั่วพระนครว่า พระราชาทรงเชื่อคุณาชีวก กลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ พวกพี่เลี้ยงนางนม ได้ยินข่าวลือ จึงได้นำความกราบทูลเจ้าหญิงว่า พระชนกของพระองค์ทรงสดับถ้อยคำของคุณาชีวกแล้ว กลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ ทรงรับสั่งให้รื้อโรงทานที่ประตูเมืองทั้ง ๔ ด้าน ข่มขืนหญิงสาว และสตรี ที่เป็นภรรยาผู้อื่น ทรงมัวเมาอยู่แต่ในความสำเริง สำราญกับชีวิต มิได้ทรงพระราชกรณียกิจเลย เจ้าหญิงรุจาทรงสลดพระทัยว่า เหตุไร พระชนกจึงเสด็จไปถามปัญหาคุณาชีวก ผู้ไม่มีคุณธรรม เปลือยกาย ไร้ยางอายเช่นนั้น พระชนกควรที่จะเข้าไปถามสมณพราหมณ์ผู้มีธรรม เว้นพระองค์แล้ว คงไม่มีใครปลดเปลื้องมิจฉาทิฏฐิพระชนก ให้กลับมาเป็นสัมมาทิฏฐิเช่นเดิมได้ ทรงดำริว่า แม้พระองค์เอง ก็ทรงระลึกชาติได้ถึง ๑๔ ชาติ คือ ชาติในอดีต ๗ ชาติ และชาติในอนาคตอีก ๗ ชาติ พระองค์จะกราบทูลให้พระบิดาทราบถึงผลกรรมที่พระองค์ได้กระทำไว้ ในอดีตชาติ ทำให้พระบิดาได้สติ แต่ถ้าจะเข้าเฝ้าในวันนี้ พระบิดาคงจะห้ามว่า เมื่อก่อนเคยมาทุกกึ่งเดือน เพราะเหตุไร วันนี้ จึงรีบมาก่อนกำหนด ครั้นจะทูลว่า ที่พระองค์มาในวันนี้ เพราะได้ยินข่าวลือว่า พระบิดากลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ คำพูดของพระองค์จะไม่น่าเชื่อถือ จึงคิดว่า ยังไม่ควรเข้าเฝ้าในวันนี้ ทำเป็นไม่รู้ไปก่อน ครั้นถึงวัน ๑๔ ค่ำ จึงค่อยเข้าไปเฝ้าตามปกติ พอถึงเวลากลับ จะทูลขอพระราชทานเงินเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก ๑,๐๐๐ กหาปณะ พระชนกจะแสดงการถือมิจฉาทิฏฐิออกมา จะถือโอกาสนั้น ทำให้พระบิดาละทิ้งมิจฉาทิฏฐินั้นเสีย” ครั้นถึงวัน ๑๔ ค่ำ เจ้าหญิงรุจาราชกุมารี ทรงประดับด้วยเครื่องอาภรณ์ทุกอย่าง เสด็จไป เข้าเฝ้าพระเจ้าอังคติราช ที่จันทกปราสาทตามปกติ เหมือนไม่ทรงทราบอะไร พระเจ้าอังคติราชทอดพระเนตรเห็นพระราชธิดา ประทับอยู่ท่ามกลางหญิงบริวารงดงาม เฉิดฉาย เหมือนอยู่ท่ามกลางสมาคมแห่งนางเทพอัปสร จึงตรัสถามด้วยความกรุณาว่า “ลูกหญิงยังรื่นรมย์อยู่ในปราสาท ยังประพาสอุทยานเล่นน้ำในสระโบกขรณีเพลิดเพลินอยู่หรือ เขายังส่ง ของเสวยไปให้ลูกหญิงอยู่หรือ ลูกหญิงและเพื่อน ๆ ยังเก็บดอกไม้ต่าง ๆ ร้อยพวงมาลัย ยังช่วยกัน ทำบ้านเล็ก ๆ เล่นเพลิดเพลินอยู่หรือ ลูกหญิง ขาดแคลนอะไรบ้าง ก็ให้บอก ลูกชอบใจ ของที่จะทำให้หน้าผ่องใส สิ่งใดหรือไม่ ถ้าชอบใจ ก็ให้บอกพ่อ แม้สิ่งนั้น จะเสมอดวงจันทร์ พ่อก็จะหามาให้ลูก” เจ้าหญิงรุจากราบทูลว่า “ลูกได้จากเสด็จพ่อทุกอย่างแล้ว แต่พรุ่งนี้ เป็นวันพระ ๑๕ ค่ำ ลูกขอเงินเพิ่มอีก ๑,๐๐๐ กหาปนะ ลูกจะให้ทานแก่วณิพกตามที่เคยให้มาแล้ว” พระเจ้าอังคติราช สดับดังนั้น จึงตรัสสอนพระธิดาว่า “ลูกหญิง บุญไม่มีหรอก ลูกทำให้ทรัพย์สินเงินทองพินาศเสียหายมากแล้ว โดยไม่มีประโยชน์ การที่ลูกหญิงรักษาอุโบสถศีล ไม่กินข้าวกินน้ำแล้ว จะได้บุญอย่างไร อาจารย์คุณาชีวก กัสสปโคตร บอกพ่อเองว่า โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์ทั้งหลายผู้ผุดเกิดไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ยินดีในความพร้อมเพรียงกัน ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบก็ไม่มี พ่อเห็นมาด้วยตาตัวเอง แม้วีชกะเป็นผู้ชายแท้ ๆ ได้ฟังคำท่านอาจารย์คุณาชีวก แล้ว ยังถึงกับร้องไห้ ลูกหญิงจะให้ทานไปทำไม จะรักษาศีลไปทำไม จะทำให้ตนเองเดือดร้อนไปทำไม ตราบใดที่ลูกหญิงยังมีชีวิตอยู่ ลูกอย่าอดอาหารเลย โลกหน้าไม่มี ลูกหญิงจะลำบาก ไปทำไม ไร้ประโยชน์” เจ้าหญิงรุจาสดับพระดำรัสพระชนกนาถ เพราะความที่พระองค์ระลึกชาติได้ด้วยพระองค์เอง จึงรู้ความเป็นไปแห่งชีวิตของพระองค์ ทรงประสงค์จะปลดเปลื้องพระบิดาจากมิจฉาทิฏฐิ จึงกราบทูลว่า “ก่อนหน้านี้ ลูกได้ยินคนอื่นพูดกันมาเท่านั้น แต่ตอนนี้มาเห็นด้วยตาตัวเองว่า ผู้ใดคบคนพาล ผู้นั้น ก็จะเป็นคนพาลไปด้วย วันนี้ ลูกได้เห็นประจักษ์ด้วยตนเองแล้ว คนหลงอาศัยคนหลง ก็ยิ่งหลงหนักมากยิ่งขึ้น เหมือนคนหลงทางถามทางคนหลงทาง การที่พระองค์อาศัยคุณาชีวก ผู้เป็นพาล ไร้ยางอาย แล้วมาหลงอยู่กับอลาตะเสนาบดี และวีชกะทาสอีก ยิ่งจะทำให้พระองค์ ถึงความเสื่อมอย่างเดียว” เจ้าหญิงรุจาราชธิดาทรงติเตียนคนเหล่านั้นอย่างนี้แล้ว จึงทรงสรรเสริญพระชนกนาถด้วยประสงค์จะปลดเปลื้องจากความเห็นผิดว่า “พระองค์ทรงมีพระปรีชา ทรงเป็นปราชญ์ ทรงฉลาดในประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ จะทรงเป็นเช่นเดียวกับพวกคนพาลได้อย่างไร ก็ถ้าสัตว์บริสุทธิ์ได้เอง ด้วยการท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ การบวชของคุณาชีวกก็ไร้ประโยชน์ แล้วเขายังจะบวชอยู่ทำไม คุณาชีวกเป็นคนหลง งมงาย จึงยึดถือการเปลือยกาย คนส่วนมากไม่รู้อะไร พอได้ฟังคุณาชีวกพูดก็หลงเชื่อ จึงพากันปฏิเสธกรรม และผลของกรรม เหมือนปลาติดเบ็ด ยากจะแก้ตัวเองออกจากเบ็ดได้ ลูกจะยกตัวอย่างให้เสด็จพ่อฟัง เปรียบเหมือนเรือบรรทุกสินค้า ถ้าใส่ของหนักเกินไป ย่อมจมลงในมหาสมุทร ผู้คนสั่งสมบาปกรรมทีละน้อย ๆ ก็หนักด้วยบาปกรรม ย่อมจมลงในนรก เช่นกัน ทูลกระหม่อมเพคะ บาปกรรมของอลาตะเสนาบดี ยังไม่ให้ผล ส่วนการที่อลาตะเสนาบดี ได้รับความสุขอยู่ในชาตินี้ ก็เป็นเพราะบุญที่เขาทำไว้ในชาติก่อนกำลังให้ผล หากวันใดหมดบุญ เขาจะได้รับผลของกรรมอย่างแน่นอน ผู้สั่งสมบุญไว้ แม้ทีละน้อย ย่อมไปเกิดในสวรรค์ เหมือนวีชกะ แม้เป็นทาส แต่เขาก็ยินดีในบุญกุศล ย่อมไปเกิดในสวรรค์ เหมือนตาชั่งที่เขาชั่งสิ่งของ ย่อมต่ำลงข้างหนึ่ง แต่เมื่อเอาของหนักออก ข้างที่ต่ำ ก็จะสูงขึ้น นายวีชกะเกิดเป็นทาสประสบทุกข์ในวันนี้ เพราะผลกรรมที่เขาทำไว้ในอดีตชาติ บาปกรรมของเขากำลังจะหมด ทูลกระหม่อมอย่าหลงเชื่อคุณาชีวก ดำเนินทางผิดเลยเพคะ” เจ้าหญิงรุจาราชกุมารี ได้แสดงโทษของการคบหาคนชั่วเป็นมิตร และคุณในการคบหากัลยาณมิตร แก่พระบิดาต่อไปว่า “บุคคลคบคนเช่นใด เขาย่อมเป็นคนเช่นนั้น เพราะการอยู่ร่วมกัน จึงทำให้เป็นเช่นนั้น เราคบใคร ย่อมติดนิสัยคนที่เราคบ เราติดต่อใคร ย่อมติดนิสัยคนที่เราติดต่อ เหมือนลูกศรอาบยาพิษ ย่อมเปื้อนคันศร คนที่เป็นปราชญ์ ไม่ควรคบคนพาลเป็นเพื่อน การคบคนพาลย่อมเป็น เหมือนการเอาใบไม้ห่อปลาเน่า แม้ใบไม้ ก็มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไปด้วย ส่วนการคบค้าสมาคมกับนักปราชญ์ ย่อมเป็นเสมือนการเอาใบไม้ห่อของหอม แม้ใบไม้ ก็มีกลิ่นหอมฟุ้งไปด้วย คนดีคบค้าสมาคมกับคนดี ย่อมประสบแต่สิ่งที่ดี คนชั่วคบค้าสมาคมกับคนชั่ว ย่อมประสบแต่สิ่งที่เลวร้าย” เจ้าหญิงรุจาราชกุมารีตรัสเล่าถึงทุกข์ที่ตนเคยได้รับมาในอดีตชาติ ให้พระบิดาฟังว่า “แม้ลูกเอง ก็ระลึกชาติได้ ในชาติก่อน ลูกเคยเกิดเป็นลูกชายช่างทองในแคว้นมคธ ลูกได้คบเพื่อนชั่ว ทำบาปกรรมไว้มาก เที่ยวคบชู้ภรรยาชายอื่น ทำเหมือนกับตัวเองจะไม่ตาย หลังจากตายไป บาปกรรมนั้น ยังไม่ให้ผล แต่บุญอย่างอื่น ให้ผลก่อน ลูกได้มาเกิดในแคว้นวังสะ เมืองโกสัมพี เป็นลูกชายคนเดียวในตระกูลเศรษฐี ผู้สมบูรณ์มั่งคั่ง มีทรัพย์มากมาย คนทั้งหลายให้ความเคารพ ยกย่อง สรรเสริญ ในชาตินั้น ลูกมีเพื่อนดี เป็นบัณฑิต เป็นพหูสูต เขาได้แนะนำให้ลูก รักษาศีลอุโบสถ ลูกก็รักษาในวันพระ ๑๔ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ แต่กรรมอันเป็นกุศล นั้น ยังไม่ทันให้ผล ดังขุมทรัพย์ที่ฝังไว้ใต้น้ำ ครั้นในชาติต่อมา ผลกรรมที่ลูกทำไว้ในแคว้นมคธ ให้ผล ลูกเหมือนคนดื่มยาพิษร้ายแรง ลูกตายจากตระกูลเศรษฐีนั้น ต้องหมกไหม้อยู่ในโรรุวนรกนาน เพราะกรรมของตน ลูกระลึกถึงทุกข์ ที่ประสบมาในนรก ไม่มีความสุขเลย ต้องทนทุกข์ในนรก นานแสนนาน ชาติต่อมา ได้มาเกิดเป็นลา ถูกตอนอยู่ในภินนาคตนคร เป็นลามีกำลังมาก ลูกพาผู้คนไปด้วยหลังบ้าง ลากรถไปบ้าง เป็นเพราะผลกรรมที่ลูกคบชู้กับภรรยาของคนอื่น ครั้นลูกตายจากชาติลานั้นแล้ว ได้ไปเกิดเป็นลิงในป่า เพราะเกิดเป็นลูกลิงตัวผู้ พวกลิง จึงนำลูกไปให้ลิงจ่าฝูง ลิงจ่าฝูงจับลูกไว้มั่น แล้วกัดลูกอัณฑะออก ถึงจะร้องเท่าไร ก็ไม่ปล่อยลูกถูกลิงจ่าฝูงกัดลูกอัณฑะขาด เพราะผลกรรมที่เป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น ครั้นลูกตายจากชาติลิงนั้นแล้ว ได้มาเกิดเป็นโคในแคว้นทสันนะ ถูกเจ้าของตอน เพื่อให้มีพละกำลังแข็งแรง ลูกต้องทนทุกข์ทรมานเทียมแอกไถ เป็นเพราะผลกรรมที่ลูกคบชู้กับภรรยาผู้อื่น ครั้นลูกตายจากชาติโคนั้นแล้ว ได้มาเกิดเป็นกะเทยในตระกูลที่มีโภคสมบัติมากในแคว้นวัชชี กว่าจะได้เกิดเป็นมนุษย์นั้นแสนยาก ครั้นมาเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ก็เป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ ลูกต้องกลายเป็นกะเทย ทนทุกข์ถูกเขาดูหมิ่นดูแคลน ให้เจ็บปวดใจ ไม่รู้จักจบสิ้น เป็นเพราะผลแห่งกรรม ที่ลูกคบชู้กับภรรยาผู้อื่น ลูกตายจากชาติกะเทยนั้นแล้ว ผลบุญที่เคยทำไว้ จึงเริ่มกลับมาให้ผล ลูกได้ไปเกิดเป็นนางอัปสรในอุทยานนันทวัน บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีผิวพรรณผุดผ่อง น่ารัก มีผ้าและอาภรณ์อันวิจิตร สวมต่างหูแก้วมณี ฉลาดในการฟ้อนรำ ขับร้อง เป็นบาทบริจาริกาของท้าวสักกะ เมื่อลูกอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ระลึกชาติในอนาคตได้อีก ๗ ชาติ ที่ลูกจะไปเกิด บุญกุศลที่ลูกทำไว้ เมื่อครั้งเกิดในเมืองโกสัมพี ตามมาให้ผล ลูกจุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นั้นแล้ว ได้เกิดเป็นเทวดา และมนุษย์ อีกหลายชาติ ลูกจะเป็นผู้ที่ชนทั้งหลายสักการะ จะเกิดเป็นหญิง อีก ๖ ชาติ ในชาติที่ ๗ ลูกจึงจะได้ไปเกิดเป็นเทวดาผู้ชาย เป็นเทพบุตร ผู้มีฤทธิ์มาก เป็นผู้สูงสุดในหมู่เทวดา แม้วันนี้ เหล่านางเทพอัปสรทั้งหลาย ก็ยังร้อยดอกไม้ เป็นพวงมาลัย อยู่ในอุทยานนันทวัน เทพบุตรผู้รับพวงมาลัยของลูก ชื่อว่า “ชวะ” ๑๖ ปี ในโลกมนุษย์นี้ รวดเร็วเหลือเกิน ราวชั่วขณะหนึ่งของเทวดา ๑๐๐ ปีในโลกมนุษย์ เป็นคืนหนึ่งและวันหนึ่งของเทวดา ตามที่ลูกได้กราบทูลให้ทรงทราบมานี้ กรรมทุกอย่างที่เราทำย่อมติดตามไปทุก ๆ ชาติ ไม่ว่าจะเป็นกรรมดี หรือกรรมชั่ว หากยังไม่ให้ผลแล้ว ย่อมไม่รามือ” เมื่อเจ้าหญิงรุจาไปเกิดในเทวโลกนั้น ได้ตรวจดูว่า ตนมาจากไหน จึงมาเกิดในเทวโลก เห็นว่า ตนเคยเกิดเป็นกะเทยในตระกูลที่มีโภคะมากในแคว้นวัชชี ตรวจดูต่ออีกว่า เพราะบุญอะไร จึงได้มาเกิดในที่อันน่ารื่นรมย์เช่นนี้ ก็ได้เห็นบุญที่ตนทำไว้ เมื่อครั้งเกิดในตระกูลเศรษฐีในกรุงโกสัมพี จึงตรวจดูต่อไปว่า ทำกรรมอะไรไว้ จึงมาเกิดเป็นกะเทย ได้รู้ว่า ตนเคยเกิดเป็นโคประสบทุกข์ใหญ่ในแคว้นทสันนะ เมื่อหวนระลึกถึงชาติต่อจากนั้น ก็ได้เห็นตนถูกตอนในชาติลิง เมื่อหวนระลึก ชาติถัดจากนั้นไปอีก ก็เห็นตนถูกตอนในชาติลา ในภินนาคตนคร เมื่อหวนระลึกถัดจากชาตินั้นไปอีก ก็เห็นตนเกิดในโรรุวนรก เมื่อพระนางรุจาราชกุมารี เห็นตนหมกไหม้ในนรก และประสบทุกข์ ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ก็บังเกิดความกลัวอย่างมาก เจ้าหญิงรุจาราชธิดา หวนระลึกถึงชาติต่อไปตามลำดับว่า ที่ต้องประสบทุกข์เช่นนี้ เพราะกรรมอะไร จึงเห็นกรรมที่ตนคบชู้กับภรรยาคนอื่น เพราะคบเพื่อนชั่วในแคว้นมคธ หลังตายจากชาตินี้แล้ว จะไปเกิดเป็นบาทบริจาริกาของท้าวสักกเทวราชอีกครั้ง ในชาติที่ ๕ จะไปเกิดเป็นอัครมเหสีของชวะเทพบุตรในเทวโลก ชาติที่ ๖ ถัดจากนั้น จะจุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ไปเกิดในพระครรภ์ ของพระอัครมเหสีของพระเจ้าอังคติราช เป็นพระธิดามีพระนามว่า “รุจาราชกุมารี” ในชาติที่ ๗ ถัดจากชาตินี้ จึงจะพ้นจากความเป็นหญิง ไปเกิดเป็นเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระนางรุจาราชธิดา แสดงธรรมให้พระราชบิดาฟัง ยิ่งขึ้นไปว่า “บุคคลใด ปรารถนาเป็นชายทุก ๆ ชาติไป ก็อย่าเป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น เหมือนคนล้างเท้าสะอาดแล้ว ไม่เหยียบโคลนอีก หญิงใด ปรารถนาเป็นชายทุก ๆ ชาติไป ก็พึงซื่อสัตย์ต่อสามี เหมือนนางเทพอัปสรผู้เป็นบาทบริจาริกายำเกรงพระอินทร์ ผู้ใดปรารถนาโภคทรัพย์ อายุ ยศ และสุข อันเป็นทิพย์ ก็พึงเว้นบาปกรรมทั้งหลาย ประพฤติแต่สุจริตธรรม สัตว์ทั้งปวง ล้วนมีกรรมเป็นของตัว ขอพระองค์ทรงตริตรองด้วยพระองค์เองเถิด” เจ้าหญิงรุจาราชธิดา ได้ทูลเล่าถึงชาติที่ตนเกิดมาแล้วในอดีต และแสดงธรรมถวายพระชนกนาถ ตลอดคืนจนรุ่งเช้า แล้วกราบทูลว่า “ขอพระองค์อย่าทรงเชื่อคำคนเปลือย ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิเลย โลกนี้มีจริง โลกหน้ามีจริง สมณพราหมณ์มีจริง และผลของกรรมดีกรรมชั่วก็มีจริง” แม้พระนางรุจาราชธิดา จะกราบทูลถึงเพียงนี้ ก็ไม่อาจแก้ไขพระชนกจากความเห็นผิดได้ ฝ่ายพระเจ้าอังคติราชทรงสดับวาจาอันไพเราะของพระธิดา ทรงปลื้มพระราชหฤทัยอย่างยิ่งว่าพระธิดาของพระองค์ฉลาดหลักแหลม ช่างเจรจา ธรรมดา บิดา มารดา ย่อมรักเอ็นดูบุตรที่ฉลาดเจรจา แต่คำพูดที่ฉลาดหลักแหลมนั้น ก็หาได้ทำให้พระราชบิดา ละความเห็นผิดไม่ แม้ชาวพระนคร ก็ลือกันว่า เจ้าหญิงรุจาราชธิดาทรงแสดงธรรม หวังจะให้พระบิดา ละความเห็นผิด ต่างพากันดีใจว่า พระธิดาเป็นบัณฑิต ถ้าแก้ไขพระบิดาจากความเห็นผิดได้แล้ว ชาวพระนครก็จะปลอดภัย เมื่อเจ้าหญิงรุจาไม่สามารถทำให้พระชนกได้สติ ก็ไม่ทรงละความพยายาม ทรงดำริหาช่องทางต่อไป จึงประคองอัญชลีขึ้นเหนือพระเศียร นมัสการทิศทั้ง ๑๐ ทรงตั้งอธิษฐานว่า “ในโลกนี้ ย่อมมีสมณพราหมณ์ผู้ทรงธรรม มีท้าวจตุโลกบาล และท้าวมหาพรหม ผู้ดูแลโลก ข้าพเจ้าขอเชิญท่านมาปลดเปลื้องพระชนกนาถของข้าพเจ้าจากมิจฉาทิฏฐิ เมื่อพระชนกนาถไม่มีคุณความดี ข้าพเจ้าก็ขอเชิญท่านมาด้วยคุณความดี ด้วยศีล และด้วยสัจจะของข้าพเจ้า ขอจงมาช่วยปลดเปลื้องพระบิดาจากมิจฉาทิฎฐินี้ ขอจงทำความสวัสดีแก่ชาวโลกด้วยเถิด” อุเบกขาพระนารทมหาพรหม เวลานั้น พระโพธิสัตว์ ได้เป็นมหาพรหม นามว่า “นารทะ” ธรรมดาพระโพธิสัตว์ มีอัธยาศัย อันยิ่งใหญ่ ด้วยเมตตาภาวนา เที่ยวตรวจดูโลกตามกาลอันสมควร เพื่อดูเหล่าสัตว์ผู้ทำดีและทำชั่ว ในวันนั้น นารทมหาพรหมตรวจดูโลก เห็นพระนางรุจาราชธิดากำลังนมัสการเหล่าเทวดา ผู้ดูแลโลก เพื่อจะปลดเปลื้องพระชนกนาถจากมิจฉาทิฏฐิ จึงดำริว่า เว้นเราแล้ว ไม่มีใครสามารถปลดเปลื้องพระเจ้าอังคติราชจากมิจฉาทิฏฐิได้ วันนี้เราควรจะไปสงเคราะห์พระราชธิดา และทำให้พระราชาพร้อมทั้งบริวารชน เกิดความสวัสดี รำพึงว่า จะไปอย่างไรดี เห็นว่า บรรพชิตเป็นที่รัก เป็นที่เคารพ และมีคำพูดน่าเชื่อถือ สำหรับพวกมนุษย์ ควรแปลงเป็นบรรพชิตไป ครั้นตกลงใจดังนี้แล้ว นารทมหาพรหมก็แปลงเป็นมนุษย์ ทรงเพศฤๅษี มีผิวพรรณผุดผ่องน่าเลื่อมใส ผูกชฎางดงามจับใจ ปักปิ่นทองที่ชฎา นุ่งผ้าพื้นแดงไว้ภายใน ทรงผ้าเปลือกไม้ ย้อมน้ำฝาด ไว้ภายนอก เอาผ้าหนังเสือปักด้วยเงิน ขลิบด้วยดาวทองเฉวียงบ่า แล้วเอาภาชนะทองบรรจุอาหารใส่ตะกร้าประดับมุกดาข้างหนึ่ง เอาคนโทน้ำแก้วประพาฬ ใส่ตะกร้าอีกข้างหนึ่ง หาบด้วยคานทองงอนงาม ไพโรจน์โชติช่วง ประหนึ่งพระจันทร์วันเพ็ญลอยเด่น เหาะมาทางอากาศ เข้าสู่จันทกปราสาท ยืนอยู่เบื้องพระพักตร์พระเจ้าอังคติราช พระนางรุจาราชธิดา เห็นนารทฤๅษีนั้นมาถึง จึงนมัสการ ทรงเข้าใจได้ทันทีว่า เทวราชนั้น จะมาสงเคราะห์พระบิดา ตามคำอธิษฐานของตน พอพระราชา เห็นนารทมหาพรหม ถูกเดชแห่งพรหมคุกคามแล้ว ทรงหวั่นพระทัย ไม่สามารถดำรงอยู่บนราชอาสน์ได้ จึงเสด็จลงจากราชอาสน์ ประทับยืนอยู่ที่พื้น แล้วตรัสถามนาม และโคตรพระนารทฤๅษี ว่า ท่านมีผิวพรรณงดงามราวกับเป็นเทวดา มีรัศมีสว่างไสว สาดส่องไปทั่วทุกทิศ ราวกับพระจันทร์ ท่านเป็นใคร มาจากที่ไหน มนุษย์อย่างเรา จะรู้จักท่านได้อย่างไร นารทมหาพรหมในคราบฤๅษี คิดว่า พระราชานี้ ไม่เชื่อว่า โลกหน้ามีจริง เราจะพูดถึงเรื่องโลกหน้าก่อน จึงกล่าวว่า “ขอถวายพระพร มหาบพิตร อาตมภาพมาจากเทวโลก เดี๋ยวนี้เอง คนทั้งหลายรู้จักอาตมภาพ โดยนามว่า นารทะ และโดยโคตรว่า กัสสปะ” พระเจ้าอังคติราชทรงดำริว่า พระองค์จะถามเรื่องโลกหน้าทีหลัง แต่จะถามถึงเหตุที่นารทะ มีฤทธิ์ได้อย่างไรก่อนจึงตรัสถามว่า “ท่านนารทะ การที่ท่านเหาะไปมา และยืนอยู่ในอากาศได้ เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ เพราะเหตุไร ท่านจึงมีฤทธิ์เช่นนี้” นารทฤๅษีทูลว่า “ขอถวายพระพร มหาบพิตร ในชาติก่อน อาตมภาพได้ปฏิบัติตามหลักคุณธรรม ๔ ประการนี้ คือ สัจจะ ทมะ ขันติ และจาคะ จึงทำให้อาตมภาพ มีฤทธิ์ ไปไหน ได้รวดเร็วทันใจ" แม้เมื่อพระโพธิสัตว์กล่าวเช่นนี้ พระเจ้าอังคติราชก็ไม่ทรงเชื่อว่า โลกหน้ามีจริง จึงตรัสว่า “ผลบุญมีอยู่จริงแน่หรือ ถ้าเป็นจริงอย่างที่ท่านนารทะว่า ข้าพเจ้าขอถามปัญหาสักข้อ ท่านจงตอบให้ดี" นารทฤๅษีทูลว่า “ขอถวายพระพร มหาบพิตร ทรงสงสัยสิ่งใด ก็จงถามอาตมภาพเถิด อาตมาจะตอบตามความรู้ และเหตุผล” พระราชาตรัสถามว่า “ท่านอย่าได้มุสากับข้าพเจ้า ที่คนพูดกันว่า เทวดามี มารดาบิดามี โลกหน้ามี คำพูดนั้น เป็นจริงหรือ” พระนารทฤาษีกราบทูลว่า “ที่เขาพูดกันเช่นนั้น เป็นจริง แต่คนที่หลงมัวเมา สำเริงสำราญอยู่กับความสุขในชีวิต จึงไม่เชื่อเรื่องปรโลก” พระเจ้าอังคติราชทรงสดับดังนั้น ได้โอกาส จึงทรงหัวเราะขึ้น แล้วตรัสว่า “ท่านนารทะ ถ้าท่านเชื่อว่า โลกหน้ามีจริง สถานที่อยู่ในปรโลกของเหล่าสัตว์ผู้ตายไปแล้ว ก็ต้องมีด้วยสถานที่นั้น อยู่ตรงไหน ถ้าเช่นนั้น ข้าพเจ้าขอยืมเงินท่านสัก ๕๐๐ กหาปณะ ในโลกนี้ แล้วจะไป ใช้คืนให้เพิ่มขึ้นเป็น ๑,๐๐๐ กหาปณะ ในโลกหน้า” พระโพธิสัตว์ติเตียนพระเจ้าอังคติราช ท่ามกลางข้าราชบริพารว่า “ถ้าอาตมภาพ รู้ว่า มหาบพิตร มีศีล รู้จักทำบุญไว้บ้าง ก็จะให้มหาบพิตรยืมเงินสัก ๕๐๐ กหาปณะ แต่มหาบพิตร ประพฤติไม่ดี ตายไปแล้ว ต้องตกนรกหมกไหม้ ก็ใครจะไปทวงเงิน ๑,๐๐๐ กหาปณะจากพระองค์ ในโลกหน้าได้เล่า ไม่มีบัณฑิตคนไหน ยอมให้คนไร้ศีลธรรม เกียจคร้าน ทำกรรมชั่ว ยืมเงินแน่ เพราะรู้ว่า จะไม่ได้เงินคืนจากคนเช่นนั้น ส่วนบุคคลผู้ขยัน หมั่นเพียร มีศีล บำรุงสมณพราหมณ์ เมื่อคนรู้แล้ว มีแต่จะเอาทรัพย์มาเชื้อเชิญเอง เพราะคิดว่า ผู้นี้ประกอบธุรกิจแล้ว สามารถนำเงินมาใช้คืนได้” พระเจ้าอังคติราช ถูกพระนารทะฤๅษี ข่มขู่เช่นนี้ ก็หมดปฏิภาณที่จะตรัสโต้ตอบ มหาชนต่างพากันร่าเริงยินดี เล่าลือกันทั่วพระนครว่า วันนี้ ท่านนารทฤๅษีผู้เป็นเทพ มีฤทธิ์มาก มาปลดเปลื้องพระเจ้าอยู่หัวจากมิจฉาทิฏฐิ ด้วยอานุภาพพระโพธิสัตว์ แม้ชนชาวมิถิลานคร อยู่ไกลตั้งโยชน์ ก็ได้ยินพระธรรมเทศนากันทุกคน สู่เส้นทางนรก พระโพธิสัตว์ คิดว่า พระราชาพระองค์นี้ ยึดมิจฉาทิฏฐิอย่างมั่นเสียแล้ว จำเราจะต้องข่มขู่ด้วยไฟนรก ให้ละมิจฉาทิฏฐิ แล้วจึงค่อยให้ยินดีในเทวโลกภายหลัง จึงกราบทูลว่า “ขอถวายพระพร มหาบพิตร ถ้าพระองค์ ยังไม่ละทิฏฐิ ก็จะต้องไปเกิดในนรกซึ่งเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน พระองค์จะถูกฝูงกา ฝูงแร้ง ฝูงสุนัข รุมยื้อแย่งฉุดคร่าฉีกร่างออกเป็นชิ้น ๆ กระจัดกระจาย เลือดไหลโทรม ใครเล่าจะไปทวงเงิน ๑,๐๐๐ กหาปณะ จากพระองค์ได้” ครั้นพระนารทฤๅษีพรรณนาถึงนรกอันเต็มไปด้วยฝูงกาและฝูงแร้งแก่ท้าวเธอแล้ว จึงกราบทูลว่า “ในโลกันตนรกนั้น มืดมิดที่สุด ไม่เห็นเดือน ไม่เห็นตะวัน ไม่มีกลางวัน กลางคืน มืดมิดอยู่ตลอดเวลา แสนน่ากลัว ใครจะไปเที่ยวตามทวงเงินคืนจากสถานที่เช่นนั้นได้ ทั้งยังมีสุนัขเขี้ยวเหล็กอยู่ ๒ ฝูง คือ ฝูงสุนัขด่าง และฝูงสุนัขดำ ร่างกายกำยำ ล่ำสัน แข็งแรง รุมกัดกิน พระองค์ ตัวขาดกระจัดกระจาย เลือดไหลโทรม ใครจะไปทวงเงินคืนจากมหาบพิตรในนรกที่มีสุนัข ดุร้ายเช่นนั้น ในโลกันตนรกนั้น มีพวกนายนิรยบาลชื่อ “กาฬะและอุปกาฬะ” พากันเอาดาบและหอก ทิ่มแทงพระองค์ที่กำลังวิ่งหนี มีห่าฝนอาวุธต่าง ๆ ทั้งฝนหอก ฝนดาบ ฝนแหลน ฝนหลาว ประกายวาววับ ดังถ่านเพลิงลุกโชน ตกใส่ศีรษะ มีสายอสนีบาต มีศิลาลุกโชน ปรากฏในอากาศ แล้วตกลงใส่ศีรษะของพระองค์ ใครจะไปทวงเงินคืนจากพระองค์ที่กำลังถูกแทงที่ท้องตัวพรุน วิ่งไปมาอยู่เช่นนั้น ในโลกันตนรกนั้น มีลมร้อนยากจะทนได้ สัตว์นรกจะไม่ได้ความสุขเลย แม้ชั่วขณะเดียว พระองค์จะถูกเทียมรถวิ่งไปวิ่งมา บนแผ่นดินที่มีเปลวไฟลุกโชนร้อนแรง ถูกแทงด้วยปฏักเหล็ก ให้วิ่งขึ้นภูเขาที่เต็มไปด้วยขวากหนามเหล็ก มีถ่านไฟลุกโชนร้อนแรง ถูกไฟไหม้ ทนไม่ไหว ตัวขาดกระจัดกระจาย เลือดไหลโทรม ร้องครวญครางน่าสยดสยอง แม่น้ำเวตรณี น้ำเป็นกรด แสบร้อน เต็มไปด้วยบัวเหล็ก ใบคมกริบ ยากที่จะข้ามได้ ไหลเย็นสงบนิ่งอยู่ เมื่อมหาบพิตรกระโจนลงไปด้วยความกระหาย หมายจะดื่ม ก็ถูกบัวเหล็ก ตัดหัวและตัว กระจัดกระจาย ไร้ที่เกาะ ลอยอยู่ในแม่น้ำนรกนั้น เจ้าหนี้คนไหนเล่า จะบังอาจตามไปทวงเงิน ๑,๐๐๐ กหาปณะ จากมหาบพิตรในนรกได้” พระเจ้าอังคติราช ทรงสดับนิรยกถาของพระโพธิสัตว์เช่นนี้ ทรงสลดพระทัย เมื่อจะทรง แสวงหาที่พึ่งจากพระโพธิสัตว์ จึงตรัสว่า “ข้าพเจ้าแทบจะล้มทั้งยืน เหมือนต้นไม้ถูกโค่น ข้าพเจ้า หลงเข้าใจผิด จึงไม่รู้เหนือรู้ใต้ ท่านฤาษี ข้าพเจ้าได้ฟังคาถาภาษิตของท่านแล้ว กลัวเหลือเกิน ร้อนใจเหลือเกิน ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า จงสั่งสอนอรรถและธรรมแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้ทำความผิดไว้มากเหลือเกิน ขอท่านจงบอกทางบริสุทธิ์แก่ข้าพเจ้า ที่จะไม่ทำให้ข้าพเจ้า ไปตกนรกด้วยเถิด” สู่เส้นทางสวรรค์ พระโพธิสัตว์ทูลบอกพระราชจริยาวัตรของพระราชาในอดีตชาติ อันเป็นทางบริสุทธิ์แก่พระเจ้าอังคติราช ว่า “พระราชา ๖ พระองค์ คือ พระเจ้าธตรฐ พระเจ้าเวสสามิตตะ พระเจ้าอัฏฐกะ พระเจ้ายมตัคคิ พระเจ้าอุสินนระ พระเจ้าสิวิราช และพระราชาพระองค์อื่น ๆ ได้ทรงบำรุง สมณพราหมณ์ทั้งหลายแล้ว ไปเกิดในสวรรค์ แม้พระองค์ก็ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินเช่นกัน พระองค์ จงงดเว้นอธรรม แล้วทรงประพฤติธรรม ขอให้เหล่าข้าราชบริพารถืออาหารไปประกาศทั้งภายในพระราชนิเวศน์ และภายในพระนครว่า ใครหิว ใครกระหาย ใครต้องการดอกไม้ ใครต้องการเครื่องลูบไล้ ใครขาดแคลนผ้านุ่งห่ม ใครต้องการร่ม ใครต้องการรองเท้า จงมารับเอา สิ่งของเหล่านั้น มหาบพิตร อย่าใช้งานคนแก่เฒ่า และโคม้าที่แก่ชรา จงพระราชทาน พระบรมราชานุเคราะห์แก่คนที่เคยทำความดีเอาไว้” ครั้นพระโพธิสัตว์แสดงทานกถาและศีลกถาให้พระราชาเลิกคบคนชั่วเป็นมิตร เข้าไปหากัลยาณมิตร อย่าทรงประมาท แล้วสรรเสริญเจ้าหญิงรุจาราชธิดา ให้โอวาทแก่ข้าราชบริพาร ตลอดจนนางในแล้ว ได้กลับไปสู่พรหมโลก ขณะที่มหาชนยืนมองดูอยู่นั่นเอง พระเจ้าอังคติราช ทรงเชื่อฟังโอวาทของนารทมหาพรหม ละมิจฉาทิฏฐิ บำเพ็ญบุญกุศล มากมาย ครั้นสวรรคตแล้ว ได้ไปเกิดในเทวโลก กลับชาติมาเกิดสมัยพุทธกาล ครั้นพระบรมศาสดา ทรงแสดงพระธรรมเทศนานี้แล้ว จึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่ใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน เราก็ทำลายข่าย คือ ทิฏฐิ แล้วทรมานอุรุเวลกัสสปะเช่นกัน อลาตะเสนาบดี ในอดีตชาติ ได้เกิดมา เป็นพระเทวทัต สุนามะอำมาตย์ เป็นพระภัททชิ วิชยะอำมาตย์ เป็นพระสารีบุตร อเจลกะ ชื่อ คุณาชีวก เป็นสุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร พระนางรุจาราชธิดา ผู้ทรงทำให้พระราชาเลื่อมใส เป็นพระอานนท์ พระเจ้าอังคติราช ผู้มีความเห็นผิด ในกาลนั้น เป็นพระอุรุเวลกัสสปะ ส่วน มหาพรหมโพธิสัตว์ เป็นเราตถาคต” วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ครั้นพระบรมศาสดาประชุมชาดกแล้ว จึงทรงแสดงอนุปุพพีกถา เมื่อทุกคนมีจิตสงบ ปราศจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน ผ่องใสแล้ว จึงทรงแสดงอริยสัจ ๔ คือ ทุกขสัจ สมุทยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจ พระเจ้าพิมพิสาร พร้อมด้วยพราหมณ์ คหบดี ชาวมคธ จำนวน ๑๑ นหุต ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุโสดาบัน ส่วนพราหมณ์ คหบดีอีก ๑ นหุต ขอแสดงตนเป็นอุบาสก ครั้นพระเจ้าพิมพิสาร ทรงบรรลุธรรมแล้ว ปราศจากความสงสัยแล้ว ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น นอกจากคำสอนของพระบรมศาสดา จึงกราบทูลว่า “เมื่อหม่อมฉันยังเป็นราชกุมาร มีความปรารถนา ๕ ประการ คือ ๑. ขอเราได้รับอภิเษกในราชสมบัติ ๒. ขอพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาสู่แว่นแคว้นของเรา ๓. ขอเราได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ๔. ขอพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น แสดงธรรมแก่เรา ๕. ขอเรารู้ทั่วถึงธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บัดนี้ ความปรารถนาของหม่อมฉัน สำเร็จแล้วทั้ง ๕ ประการ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้ง และไพเราะยิ่งนัก หม่อมฉันขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่า เป็นสรณะ ขอพระองค์ทรงจำหม่อมฉันไว้ว่า เป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่บัดนี้เป็นต้นไป” แล้วนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ทรงรับภัตตาหารในพระราชนิเวศน์ในวันรุ่งขึ้น พระเจ้าพิมพิสารรับสั่งให้จัดเตรียมภัตตาหารอย่างประณีต ครั้นรุ่งเช้า ได้ให้เจ้าพนักงานไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ถึงเวลาแล้ว พระบรมศาสดา ทรงครองผ้า ถือบาตร เสด็จพุทธดำเนินสู่กรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่จำนวนหนึ่งพันรูป ซึ่งเคยเป็นนักบวชชฎิลมาก่อน ในกาลนั้น ท้าวสักกะจอมเทพ ทรงแปลงเป็นมาณพ เสด็จดำเนินนำหน้าพระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข พลางร้องเพลงสดุดีพระบรมศาสดาโดยประการต่าง ๆ ประชาชน ได้เห็นท้าวสักกะจอมเทพแล้ว กล่าวกันว่า “พ่อหนุ่มนี้ เป็นใครกัน ช่างมีรูปงาม น่าชมนัก” ท้าวสักกะได้ตอบประชาชนว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใด เป็นปราชญ์ ทรงฝึกอินทรีย์ทั้งปวงแล้ว เป็นผู้ประเสริฐ หาบุคคลเปรียบมิได้ พ้นแล้วจากกิเลส เสด็จไปดีแล้ว เป็นพระอรหันต์ในโลก ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น” พระบรมศาสดาเสด็จพุทธดำเนินพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ไปสู่พระราชนิเวศน์ของพระเจ้าพิมพิสาร ประทับนั่งบนพระพุทธอาสน์ที่จัดถวาย พระเจ้าพิมพิสารทรงปฏิบัติภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยพระองค์เอง พระเจ้าพิมพิสาร ทรงพิจารณาว่า สวนเวฬุวัน สมควรเป็นที่หลีกเร้นอยู่ ตามสมณวิสัย ทรงตัดสินพระทัยว่า เราควรถวายสวนเวฬุวัน แก่พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข พระราชาจึงตรัสสั่งให้จัดเตรียมสุวรรณภิงคาร ทรงหลั่งน้ำทักษิโณทก น้อมถวายวัดเวฬุวัน แด่พระพุทธเจ้า อันเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา เกิดธรรมเนียมกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล หลังจากถวายวัดเวฬุวันแล้ว พระเจ้าพิมพิสารไม่ได้กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแก่ญาติผู้ล่วงลับ ตกกลางคืน พวกเปรตซึ่งเป็นญาติในชาติก่อนของพระองค์ รอรับส่วนกุศลที่จะมีคนอุทิศให้มาหลาย ภพชาติ คาดหวังว่า จะได้รับส่วนกุศลจากพระเจ้าพิมพิสาร เมื่อไม่ได้ก็ผิดหวัง จึงมาปรากฏตัว กรีดร้องโหยหวนขอส่วนกุศล พระเจ้าพิมพิสารทรงสะดุ้งตื่นเพราะเสียงร้องโหยหวนของพวกเปรต ทรงหวาดหวั่นว่า จะมีภัยมาถึง จึงรีบไปเฝ้าพระพุทธองค์แต่เช้าตรู่ กราบทูลเล่าเรื่องให้ทรงทราบ พระพุทธองค์ตรัสว่า เปรตเหล่านั้น คือ ญาติของพระเจ้าพิมพิสาร ในชาติก่อนทำบาปกรรมไว้มาก รอส่วนกุศลที่ญาติจะอุทิศไปให้ แต่ไม่มีใครระลึกได้ จำต้องรอคอยบุญกุศลด้วยความหิวโหยทรมานมาหลายภพชาติ ครั้นทราบว่า พระเจ้าพิมพิสารทรงทำบุญใหญ่ ถวายวัดแก่พระพุทธเจ้าและ หมู่ภิกษุสงฆ์ จึงพากันมาด้วยความหวังว่า จะได้ส่วนกุศลในครั้งนี้ แต่พระองค์ก็ไม่ได้อุทิศให้ จึงมาปรากฏกายให้เห็น พระเจ้าพิมพิสารกราบทูลถามว่า หากพระองค์ทำบุญแล้วอุทิศในเวลานี้ พวกญาติของพระองค์ยังจะได้รับส่วนกุศลอยู่หรือไม่ พระพุทธองค์ตรัสว่า หากพระองค์ตั้งใจกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ พวกญาติของพระองค์ก็จะได้รับ พระเจ้าพิมพิสารจึงอาราธนาพระพุทธองค์พร้อมหมู่ภิกษุสงฆ์ ไปเสวยภัตตาหารที่พระราชวัง เพียงชั่วขณะที่ทรงกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้เท่านั้น อัตภาพอันแสนลำบากของเปรตเหล่านั้นได้อันตรธานไป ปรากฏได้อัตภาพทิพย์ขึ้นในขณะนั้นเลยทีเดียว

    ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ฉบับ ญาณวชิระ : ชาติที่ ๗ พระจันทกุมาร : ขันติ คือ อาภรณ์ประดับใจ

    ขุนเขาย่อมมีวันทลาย สายน้ำย่อมมีวันเปลี่ยนทาง แต่ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ญาณวชิระ สำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ บริษัท เมืองโบราณ จำกัด และบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด...
    เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) กับคณะศิษย์วัดหนองป่าพง

    วิถีแห่งผู้นำ : สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ๘๑. กำเนิดพระธรรมทูตสายต่างประเทศ  ๘๒. ความสัมพันธ์กับวัดหนองป่าพง  เรียบเรียงโดย พระครูอมรโฆสิต (ปรีชา สาเส็ง)

    วันนี้วันพระ วันจันทร์ที่ ๒๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) "ปูชา จ ปูชนียานํ ...
    หนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕ : ขอบพระคุณ ภาพถ่ายหนังสือโดย รัฐนิธ โสจิระกุล

    ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง ฉบับ ญาณวชิระ : ชาติที่ ๖ พระภูริทัต ศีล คือ อาภรณ์ประดับกาย

    สำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ บริษัท เมืองโบราณ จำกัด และบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) จัดทำหนังสือ "ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง" ฉบับ ญาณวชิระ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕

    TRENDING RIGHT NOW